บ้านปูรอจังหวะลงทุนอีอีซี ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเฟส2

10 พ.ย. 2561 | 08:00 น.
“บ้านปู” ยัน โรงไฟฟ้า BLCP พร้อมขยายได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ รองรับการเติบโตในพื้นที่อีอีซี รอดูนโยบายพลังงานของประเทศ ยํ้าถ้ารัฐสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในอีอีซี หรือในจังหวัดหลัก ก็พร้อมเข้าไปทำ

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของไทย ระหว่างบริษัทในเครือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ว่ายังให้ความสำคัญต่อเนื่องที่จะผลิตไฟฟ้ารองรับการเติบโตในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง หรือในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เนื่องจากมีการลงทุนอยู่แล้วในพื้นที่ 600ไร่ ซึ่งยังสามารถขยายการลงทุนได้อีก เป็นส่วนโรงไฟฟ้า BLCP เฟส 2 และมีการศึกษาเบื้องต้นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

[caption id="attachment_344982" align="aligncenter" width="479"] สมฤดี ชัยมงคล สมฤดี ชัยมงคล[/caption]

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้า BLCP เฟส 2 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ก็ยังต้องดูนโยบายพลังงานของประเทศ ปัจจุบัน BLCP มีสัญญาอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ เพียงแต่ว่าเรายังมีพื้นที่ที่ยังขยายได้ ฉะนั้นเราต้องดูว่านโยบายของประเทศจะมีการส่งเสริมให้มีการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในมาบตาพุดเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งในส่วนของ BLCP ก็มีความพร้อมรองรับ เพราะการซื้อไฟฟ้าไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การควบคุมของเอกชน แต่มันเป็นนโยบายของรัฐบาลของประเทศ ซึ่งตรงนี้เรายังมีกำลังผลิตรองรับได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ (รวมกำลังผลิตเต็มที่ 2,400 เมกะวัตต์เฟส 1 เดินหน้าแล้ว 1,400 เมกะวัตต์)

“ลงทุนเฟส 2 ต้องลงทุนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่ที่ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ เพราะเราจะต้องดูว่าโครงการก่อสร้างในขณะนั้นมีต้นทุนรวมเท่าไหร่ ต้องดูหลายส่วนประกอบ”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปูฯ กล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่น่าสนใจ ถ้ารัฐบาลไทยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นอีอีซี หรือในจังหวัดหลักๆ ที่รัฐบาลต้องการ ทางบ้านปูก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปทำ หรือภาคเอกชนที่ต้องการทำพลังงานใช้เอง ในรูปแบบโซลาร์รูฟ หรือเป็นการบริหารด้านพลังงาน ที่ต้องการทำให้เป็นการบริหารพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่ผลิตไฟฟ้าเอง เก็บระบบแบตเตอรี่เอามาใช้ในการบริหารการใช้ไฟฟ้า ใช้ไอนํ้าในโรงงาน ร.พ. รร. รีสอร์ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนอยู่ในกรอบธุรกิจบ้านปูที่หมุนไปในเชิงเทคโนโลยีพลังงาน

“ตรงนี้เราได้มีการสร้างแพลตฟอร์มไว้เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนของพลังงานที่จะเป็นสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี เป็นพลังงานยั่งยืนสำหรับอนาคต และนอกจากว่าเราจะมีความพร้อมทำให้เกิดขึ้นได้แล้ว เรายังมีระบบที่เป็นระบบที่ดีในการดูแลลูกค้า ระบบการให้บริการหลังการขาย เหล่านี้เราก็มีความพร้อมหมดสำหรับการสร้างเครือข่ายที่จะเป็นสมาร์ทเอ็นเนอร์ยีของไทย” 090861-1927-9-335x503-3

ปัจจุบันการลงทุนของบ้านปูทั้งหมดถ้ารวมประเทศไทยด้วยรวม 10 ประเทศ โดยประเทศหลักที่ลงทุนคืออินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ลงทุนด้านธุรกิจถ่านหิน และดูโอกาสในการลงทุนผลิตไฟฟ้าด้วย, ออสเตรเลีย ผลิตถ่านหิน และรองลงมาคือจีน จะลงทุนด้านถ่านหินและผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและผลิตพลังงานทดแทน, ญี่ปุ่นทำด้านพลังงานทดแทน ส่วนที่สปป.ลาว เราจะมีโรงไฟฟ้าหงสา, มองโกเลีย กำลังพัฒนาเหมืองถ่านหิน โดยดูว่าแปรรูปถ่านหินเป็นผลิตภัณฑ์อื่น, เวียดนาม ผลิตพลังงานทดแทนและปีนี้ได้เริ่มต้นทำการค้าถ่านหินเข้าไปให้กับการไฟฟ้าเวียดนามด้วย ส่วนที่สิงคโปร์ จะเป็นศูนย์รวมด้านการตลาดและการขนส่ง รวมถึงการลงทุนในบริษัทที่สิงคโปร์ทำเอ็นเนอร์ยีสตอเรจโดยมีฐานการผลิตแบตเตอรี่นี้ที่จีน และมีร่วมทุนอยู่ในบริษัทซันซีฟ สิงคโปร์ฯถือหุ้นอยู่ 35% ผลิตโซลาร์รูฟ และอเมริกาที่ลงทุนเชลล์ก๊าซ ส่วนประเทศไทยที่มีธุรกิจผลิตขายไฟฟ้า จาก BLCP โรงไฟฟ้าหงสา ที่สปป.ลาว ที่บ้านปูขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,417 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561 e-book-1-503x62