"อู่ตะเภา" เปิดทาง! ดึง ทอท. ร่วมทุน

09 พ.ย. 2561 | 07:19 น.
091161-1413

เปิดแนวทีโออาร์พัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา" 2.9 แสนล้าน สัญญา 50 ปี เผย รัฐช่วยค่าออกแบบ เปิดทางเอกชนที่ชนะประมูลดึง ทอท. ร่วมลงทุน คาดภายใน 15 ปี รัฐมีรายได้จากค่าเช่าและส่วนแบ่ง 2.24 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เอกชนร่วมลงทุน 4 โครงการ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี วงเงินรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมออกทีโออาร์ในเดือน พ.ย. นี้ และคาดได้ผู้ชนะประมูลเดือน ก.พ. 2562 โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกรอบลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐร่วมลงทุนประมาณ 17,768 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 272,232 ล้านบาท มีระยะเวลาร่วมลงทุน 50 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566


TP11-3280-AB-4

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะสามารถออกทีโออาร์เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลได้ในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งขอบเขตโครงการจะประกอบด้วย 1.ทางวิ่ง ทางขับ และระบบที่เกี่ยวข้องในสนามบินอู่ตะเภา 2.อาคารปฏิบัติการ อาคารสนับสนุน และระบบ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3.การดำเนินการจัดหาผู้ผลิตสาธารณูปโภคกลาง ที่ต้องใช้ในเขตส่งเสริมฯ

4.งานหลักที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และอาคารพื้นที่จอดรถ ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบริการสาธารณะแก่ผู้โดยสาร ทั้งทางถนนและทางรางในการเข้าออกสนามบิน ลานจอดอากาศยาน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ที่ประกอบด้วย อาคารสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า และอาคารสำนักงานของกรมศุลกากร

5.ก่อสร้างพื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มีระบบจัดการและอุปกรณ์ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีกำหนด เช่น อาคารกระจายสินค้าทางอากาศ และอาคารอื่น ๆ เป็นต้น 6.ศูนย์ธุรกิจการค้าเพื่อพัฒนาพื้นที่ในสนามบินอู่ตะเภา

7.การสนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น สถานีดับเพลิง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ 8.ระบบเชื่อมต่อและระบบการส่งลำเลียงสาธารณูปโภคไปยังพื้นที่ของโครงการ เป็นต้น


appMP26-3059-A-1

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนของภาครัฐ หรือ กองทัพเรือ จะมีในส่วนของค่าก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ รวมถึงลานจอดอากาศยานสำหรับศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และอื่น ๆ รวมเป็นเงิน 17,768 ล้านบาท ขณะที่ เอกชนจะลงทุน เช่น ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และองค์ประกอบอื่น ๆ รวม 92,083 ล้านบาท เป็นต้น โดยที่ภาครัฐจะสนับสนุนมาตรการทางการเงินบางส่วนให้ อาทิ การรับผิดชอบดำเนินการออกแบบและงานก่อสร้างงานโยธาของโครงการ เพื่อลดภาระของเอกชนในการจัดหาเงินลงทุนระยะแรก เช่น งานโยธาของทางขับที่เกี่ยวเนื่องกับทางวิ่งที่ 1 เพิ่มเติม งานโยธาของทางวิ่งที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้องกับทางวิ่งที่ 2 งานโยธาของลานจอดอากาศยานสำหรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน ระบบไฟฟ้าสนามบิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดทางให้กับเอกชนที่ชนะการประมูล สามารถสร้างพันธมิตรด้านการให้บริการสนามบิน โดยสามารถเชิญ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มาร่วมลงทุนในโครงการได้ด้วย

ส่วนการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชนนั้น ภาครัฐ โดยกองทัพเรือ จะมีรายได้จากค่าใช้ประโยชน์ทางวิ่งที่ 1 และทางขับ ก่อนที่กองทัพเรือจะมอบสิทธิการใช้ทางวิ่งที่ 1 ให้กับเอกชน ค่าตอบแทนอื่น ๆ เช่น การให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะได้ค่าเช่าพื้นที่และส่วนแบ่งรายได้ของโครงการ ซึ่งในส่วนของค่าเช่าที่ดินรวมอาคารสิ่งก่อสร้าง คิดที่ 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี และปรับเพิ่ม 9% ทุก 3 ปี และส่วนแบ่งรายได้ 5% ก่อนหักค่าใช้จ่าย


app-mp27-3071-a

สำหรับผลตอบแทนทางการเงินของโครงการนี้ ได้มีการแบ่งเป็น 2 กรณี ซึ่งกรณีแรกอยู่บนพื้นฐานมีผู้โดยสารตามที่คาดการณ์ไว้ปกติ 54 ล้านคน ในปีที่ 30 อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) ของเอกชนจะอยู่ที่ 11.76% และอัลตราตอบแทนของผู้ถือหุ้น 12.39% รัฐจะได้รับรายได้จากค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ตลอดโครงการ รวมเป็นเงิน 201,928 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 42,725 ล้านบาท หรือ รัฐมีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 10.38%

ส่วนกรณีที่มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน ในปีที่ 15 อัตราผลตอบแทนทางการเงินของเอกชนจะอยู่ที่ 14.30% และมีอัตราของผู้ถือหุ้น 15.57% รัฐได้รับรายได้จากค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ตลอดอายุโครงการ รวมเป็นเงิน 224,133 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 50,391 ล้านบาท หรือ รัฐมีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 11.27%

ทั้งนี้ หากประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศจากโครงการดังกล่าวนี้ต่ำสุดจะประมาณ 1.89 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มปีละประมาณ 1.56 หมื่นตำแหน่ง และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดโครงการ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,415 วันที่ 4 - 7 พ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เทสโก้ โลตัส' เปิดสาขาอู่ตะเภา รองรับการขยายตัวอีอีซี
เปิดเค้กสนามบินอู่ตะเภา 2 แสนล้าน


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62