ภารกิจเลขาธิการ AIPI ความท้าทายฉากใหม่ของ ‘อิสรา สุนทรวัฒน์’

16 พ.ย. 2561 | 04:48 น.
“หาก ASEAN คือรถ F1 ภายใต้รูปโฉมที่ดึงดูดทุกสายตาให้ต้องหันมามอง ภายในคือกลไกที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทุกๆ ส่วนมีหน้าที่ร่วมกันขับเคลื่อน ASEAN ให้เดินไปข้างหน้า และหากเจาะลึกเข้าไปในแต่ละภารกิจ รถ F1 คันนี้ คนขับก็คือประชากรทั้ง 600 ล้านคนในกลุ่มประเทศ ASEAN แต่ส่วนที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์เป็นกลไกภายในให้ ASEAN เดินหน้าก็คือ AIPA หน่วยงานที่จะทำให้แต่ละนโยบายซึ่งเป็นผลจากการหารือร่วมกันในระดับภูมิภาคเข้าไปมีผลปฏิบัติจริงในแต่ละประเทศ ด้วยการประสานความเข้าใจและหาจุดร่วมที่ลงตัวในรูปแบบของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม”

สายตาที่จริงจังของคุณอิสรา สุนทรวัฒน์  เมื่อเล่าถึงภารกิจที่เขาทำหน้าที่ตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ เมื่อผสานกับบรรยากาศของการพูดคุยภายในห้องสมุด รูฟุส ดี สมิธ และ ชำนาญ ยุวบูรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแวดล้อมไปด้วยตำราทางรัฐศาสตร์ระดับโลกขับให้เรื่องราวภารกิจเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter Parliamentary Assembly หรือ AIPA) เข้มข้นขึ้นหลายเท่าตัว

8827252003506
It’s time to be your own man.

เพราะภารกิจขับเคลื่อน ASEAN ไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ ดังนั้นการคัดสรรคุณสมบัติของผู้แทนจากประเทศไทยเพื่อไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ใน ASEAN จึงไม่ใช่แค่การไปทำหน้าที่ตลอดวาระ แต่คือสรรหา “นักปฏิบัติ” ที่มองเห็นปัญหา มีความพร้อมที่จะแก้ไข ที่สำคัญคือมีภาพลักษณ์และคุณสมบัติที่ครบถ้วนเป็นตัวแทนของ “คนไทย” ที่พร้อมฉายพลังอย่างสง่างามใน ASEAN

ด้วยคุณสมบัติที่ตรงตามเงื่อนไขการสรรหาที่บรรจุไว้ในประกาศอย่างชัดเจนทั้ง ทักษะและความสามารถในการสื่อสารในระดับสากล ความรู้ความเข้าใจในกรอบการปฏิบัติงานของรัฐสภา กรอบอายุและกรอบเวลาที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตลอดวาระทั้ง 3  ปี ณ สำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน  กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่สำคัญคือการมองเห็นภาพว่าตนเองต้องการจะทำอะไรให้กับ ASEAN ทำให้คุณอิสราตัดสินใจลงสมัครเข้ารับการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ AIPA ความมั่นใจที่พกมาเกินร้อยผสานความเชื่อใจที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผ่านคำพูดที่แสนเรียบง่ายว่า “It’s time to be your own man” ทำให้ปลายทางของการคัดสรร ชื่อที่ปรากฏในเอกสารแต่งตั้งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนคือ “อิสรา สุนทรวัฒน์”

“ที่ผ่านมา ASEAN เดินหน้าในแบบของ ASEAN แต่ประชาชนไม่ได้เดินไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นผมจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างความรู้สึกของการ “เดินไปด้วยกัน” ให้เกิดขึ้นในอาเซียน”

8827250777052
ภารกิจของเลขาธิการ AIPA : เมื่องานบนหน้ากระดาษปะทะกับความเป็นจริง

หากพิจารณาจากชื่อเต็มของ AIPA คือ “ASEAN Inter Parliamentary Assembly” หน้าที่หลักของ AIPA คือการเป็นตัวแทนของ ส.ส. ร่วม 3,000 คน ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีภารกิจคือการเป็นตัวเชื่อมประสานนำนโยบายอันเป็นผลจากการหารือมาแสวงหาความร่วมมือเพื่อพัฒนาสู่การเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว AIPA กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และดูเหมือนจะไม่มีบทบาทนักใน ASEAN เนื่องจากตลอด 40 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การก่อตั้ง จาก AIPO จนเปลี่ยนมาเป็น AIPA กฎหมายที่ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติจริงในกลุ่มประเทศอาเซียนมีเท่ากับศูนย์ฉบับ ปัญหานี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะ AIPA ไม่ทำงาน แต่เป็นเพราะความหลากหลาย ความแตกต่างในเกือบทุกๆ ด้านของทั้ง 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ไปจนถึงภาษา โดยมีจุดร่วมเดียวที่ยึดทุกประเทศให้อยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันคือ “การตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณอิสราเริ่มดำเนินการคือ การฉีกออกจากกรอบปฏิบัติเดิม ด้วยการเริ่มแก้ไขสิ่งที่ “แตกต่าง” ให้หลอมรวมเป็นหนึ่งด้วยการสร้างจุดร่วมที่ทุกประเทศมองเห็นในภาพเดียวกัน

“การลงไปทำงานทำให้ผมเห็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของ ASEAN ที่ไม่ใช่การสร้างความร่วมมือและการประสานประโยชน์ระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศ แต่คือ “ความเย็นชา” และ “การไม่ใส่ใจหรือให้ความสนใจ” ของคนอาเซียนในกลุ่มประเทศอาเซียน ASEAN ด้วยกัน หากมองในความเป็นจริงแล้วการรวมกลุ่มของ10 ประเทศอาเซียนเหมือนการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านปิด ที่บ้านทั้ง 10 หลังมีรั้วรอบขอบชิด มีพรมแดนและมีจุดปะทะที่ชัดเจน เราจะรู้จักเพื่อนบ้านเมื่อเราออกมาจากบ้าน เรารู้ว่าเราอยู่กันกี่คน ออกจากบ้านกี่โมง แต่เราไม่รู้ถึงในรายละเอียด   การเรียนรู้ระหว่างกันจะเพิ่มมากขึ้นตามปฏิสัมพันธ์ภายใต้ประเด็นปัญหาและประเด็นความร่วมมือที่แต่ละฝ่ายเห็นร่วมกัน”

8827249918622
เชื่อมประเด็นปัญหาสู่การเห็นร่วม จุดตั้งต้นการผนึกความแข็งแรงของ ASEAN

หลังจากปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนมาแล้วร่วม 2 ปี 1 เดือน คุณอิสราเผยว่า ที่ผ่านมาในการประชุมระดับต่างๆ ของ ASEAN และ AIPA วาระที่นำเสนอล้วนแต่เป็นประเทศปัญหาในระดับโลก ผลของการหารือในบางครั้งมีสถานะเป็นเพียง “ข้อเสนอแนะ” ทำให้ความชัดเจนของการสร้างผลในเชิงปฏิบัติปรากฏขึ้นน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ AIPA กำลังมุ่งเดินหน้าคือการลดข้อหารือที่เป็นประเด็นใหญ่ เป็นประเด็นที่ใกล้ตัว  แต่ให้ผลเชิงอารมณ์และการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับประชาชน สังคม และระดับประเทศ ซึ่งประเด็นที่คุณอิสรากำลังเดินหน้าอย่างเต็มสูบคือ “ประเด็นการปกป้องเยาวชนจากการทำอนาจารและความรุนแรง”

“เพราะเรื่องของเด็กและเยาวชนคือจุดร่วมที่ทุกสังคมเห็นเป็นภาพเดียวกัน การทำงานของ AIPA ในยุคของผมคือการนำจุดแข็งเรื่องการสร้างมติที่เป็นเอกฉันท์ผลักดันให้เกิดการสร้างระเบียบวิธีปฏิบัติการบางอย่างร่วมกัน ผมเชื่อว่าการดำเนินการในจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสร้างมาตรฐานที่เหมือนกันใน 10 ประเทศอาเซียน ผลักดันสู่การพัฒนากฎหมายที่จะนำไปปฏิบัติใช้ในเรื่องต่างๆ ด้วยมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันต่อไป”

400x400
ร่วมสร้างแบรนด์ ASEAN ให้แข็งแกร่ง ด้วยพลรบเคลื่อนที่เร็วแบบ AIPA

“หากเปรียบ ASEAN เป็นแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งแล้ว ภาพจำของ ASEAN ในคนอาเซียนด้วยกันและในระดับสากลคือความชัดเจนและแบรนด์ที่แข็งจนเกินไป ตลอดระยะเวลามากกว่าครึ่ง ศตวรรษ ASEAN ไม่เคยเป็น People Center ประชาชนจึงไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ASEAN”

การมองเห็นข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เกิดขึ้น คุณอิสรานำประสบการณ์และความสามารถในฐานะนักการเมืองที่ครํ่าหวอดทั้งการเมืองระดับประเทศและในระดับสากล การเชื่อมต่อผู้แทน ส.ส. แต่ละประเทศด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “ประเทศคุณหาเสียงอย่างไร?” นอกจากเป็นจุดเชื่อมความรู้สึก “ไม่ต่างกัน” ของคนทำงานในสนามเดียวกันแล้ว ยังเป็นใบเบิกทางไปสู่การกระจายความร่วมมือ จาก ส.ส. ของ 10 ประเทศอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนั้น การทำงานแบบพลรบเคลื่อนที่เร็ว ทำให้คุณอิสราทะยานสู่การแสวงหาความร่วมมือในระดับต่างๆ ทั้งในลักษณะขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าไปสู่การตั้งประเด็น การหารือสำคัญร่วมกับ European Parliament และ US Congress อีกด้วย

“ความท้าทายหลักของการสร้าง แบรนด์ ASEAN คือ คนอาเซียนขาดความมั่นใจในคนอาเซียนด้วยกัน เราจึงเดินเกมด้วยการออกไปขยายภาพของ ASEAN ในสนามอื่นเพื่อให้เกิดความสนใจและดึงองค์กรระดับสากลเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้การดำเนินการของ AIPA ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกับการผลิตสินค้าที่ของซึ่งผลิตในประเทศได้รับการยอมรับน้อยกว่าของที่ผลิตมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตก “การเดินเกมจากภายนอก” คือกลยุทธ์ สำคัญที่ผมเร่งดำเนินการและตั้งใจสร้างความแข็งแกร่งให้กับ AIPA ซึ่งจะสะท้อนภาพใหญ่ให้กับ ASEAN ต่อไป”

8827249811371
OUR AIPA, OUR ASEAN

ภายใต้สังคมที่เคลื่อนที่เร็วด้วยเทคโนโลยีที่ผสานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เชื่อม “สาร” จากผู้ส่งไปสู่ผู้รับอย่างทั่วถึง หลังจาก AIPA ผ่านการร่วมวางรากฐานจากเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนซึ่งตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาหลายยุคหลายสมัย สิ่งที่คุณอิสราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหลังการเข้ารับตำแหน่งคือ การสร้างให้ AIPA คือพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชน “I am your voice” สำหรับประชากรอาเซียนทั้ง 600 ล้านคน เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในทุกมุมต่างๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียนมองเห็นโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่คุ้มค่าภายใต้การแลกเปลี่ยนและการสร้างพลังร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้พื้นที่สังคมออนไลน์ของ AIPA ครอบคลุมการสื่อสารผ่านข้อมูลที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อผูกโยงความรู้สึกของคนอาเซียนไว้ร่วมกันทั้งในเฟซบุ๊ก และการนำเสนอภาพถ่ายอันงดงามของอาเซียนในอินสตาแกรม ภายใต้กรอบความคิดของการทำงานที่ไม่หยุด แค่การทำหน้าที่ แต่คือการลงสนามทำเพื่อคนอาเซียนอย่างเต็มตัว

ในอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า ก่อนที่คุณอิสรา สุนทรวัฒน์ จะหมดวาระในตำแหน่งเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน รูปโฉมของ AIPA และ ASEAN จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป แต่การเริ่มต้นโดยเชื่อมพลังเล็กๆ สามารถก้าวสู่พลังที่ยิ่งใหญ่เสมอหากทุกคนพร้อมที่จะมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การประดับธงอาเซียน แต่คือการร่วมเรียนรู้อย่างจริงจังไปพร้อมๆ กัน ติดตามการทำงานของ AIPA ในวันที่คนไทยได้เข้าไปมีส่วนสร้างการเปลี่ยน แปลงให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ววันนี้ทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม “AIPA”

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,417 วันที่ 11 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว