"บิ๊กตู่" เคาะเพิ่ม "ป้องกันประเทศ-พัฒนาคน" เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายอีอีซี

09 พ.ย. 2561 | 06:03 น.
บอร์ดนโยบายอีอีซีเห็นชอบ เพิ่ม "ป้องกันประเทศ-พัฒนาคน" รวมเป็น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษอีอีซี

วันนี้ (9 พ.ย. 61) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2561 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม หลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาธิการ กพอ.) ได้แถลงผลการประชุม กพอ. โดยที่ประชุมมีมติในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้


16671_20181109101544

กพอ. เห็นชอบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รายงาน โดยระยะที่ 1 : แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 : โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (2) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (3) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา (4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 : (5) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 4 : (6) โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) นอกจากนั้น EEC ยังได้ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้

1) มีการกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เขตฯอุตสาหกรรม 21 เขต และเขตฯเพื่อกิจการพิเศษ 4 เขต การกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แผนปฏิบัติการ 4 แผน ได้แก่ แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

3) จัดทำแผนงานบูรณาการขับเคลื่อน EEC ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2562 แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้รับจัดสรรงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในปี 2562 จำนวน 14,862.6146 ล้านบาท

4) มีกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายประเทศ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

"นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนและการศึกษา ทำให้รวมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษใน EEC จากเดิมที่มี 10 อุตสาหกรรม เป็น 12 อุตสาหกรรม ที่ EEC ต้องดูแล ทั้งนี้ EEC เป็นฐานเริ่มต้นในการลองทำอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนและการศึกษา โดยจะลองทำมาตรการลงทุนในที่นี้ก่อน แล้วจึงจะขยายผลออกไปข้างนอก จึงถือเป็นการเริ่มต้นของ กพอ. ที่อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษมี 12 อุตสาหกรรม" เลขาธิการ กพอ. กล่าว

ส่วนการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มที่ 1 "ดึงการลงทุน" ร่วมกับ BOI เป้าหมาย 100,000 ล้านบาทต่อปี ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะจัดทำแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการหานักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการหลัก (Anchor) ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มีแนวทางตามภารกิจดังต่อไปนี้

ภารกิจชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้มีคณะกรรมการประสานการลงทุน ที่มีคณะทำงานประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่ม ประสานการทำงานร่วมกับ BOI กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย วางแผน Roadshow แบบเจาะลึกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเน้นผลสัมฤทธิ์การชักจูงการลงทุนของบริษัทเป้าหมายสำคัญ

ภารกิจการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง (ตาม พ.ร.บ.EEC) ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

ภารกิจการพัฒนาศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในพื้นที่ EEC เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ ผู้ประกอบการ นักลงทุนในพื้นที่ EEC ให้ศูนย์บริการที่มีความทันสมัย รวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยของระบบข้อมูลในการติดต่อธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

กลุ่มที่ 2 การประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ "เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน" โดยสำนักงานฯ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายตลาดการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ร่วมเป็นเจ้าของและร่วมได้รับประโยชน์จากโครงการ

รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

กลุ่มที่ 3 วางแผนเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต อาทิ การขยายพื้นที่ EEC นอกจาก 3 จังหวัด การประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง โดยประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานสำคัญในระยะต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

595959859