ข้าพระบาท ทาสประชาชน : คสช.ควรล้างบาง "ทอท." เสียที

10 พ.ย. 2561 | 11:31 น.
คสช-2 thaipulica-พล.อ.ประยุทธ์-จันทร์โอชา2 ถึงแม้ว่าโรดแมปการเมืองไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่ความเป็นจริงวันนี้ รัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงมีอำนาจเต็มในการปกครองบริหารประเทศทุกประการ และจะมีอำนาจเช่นนี้ต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งมีความเป็นไปได้ที่ท่านจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกวาระหนึ่ง

ในช่วงเวลาแห่งอำนาจของรัฐบาล คสช.ขณะนี้ มีงานโหญ่โปรเจ็กต์ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาอนุญาต อนุมัติ ตัดสินใจของรัฐบาล อันเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่สำคัญๆ อยู่ในความสนใจ และเป็นที่จับตามองของประชาชน ซึ่งรัฐบาลควรระมัดระวังอย่างยิ่งคือ

1. การเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานในพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี

2. การเปิดประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี

ซึ่งทั้ง 2 สัญญาเดิมของกลุ่มคิงเพาเวอร์ จะหมดอายุลงในปี 2563

3. จุดรับมอบสินค้าปลอดอากร (Pick up counter) ระยะเวลา 5 ปี

4. การพัฒนาในพื้นที่ดินว่างเปล่าจำนวน 2 แปลง บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ คือที่ดินแปลง 37 ของกรมธนารักษ์ขนาด 990 ไร่ และที่ดินขนาด 723 ไร่ ที่ ทอท.ซื้อไว้ตั้งแต่สมัยเริ่มก่อสร้างสนามบิน

พิจารณาเฉพาะ 4 โครงการนี้ มูลค่าโครงการและผลประโยชน์ก็นับหลายแสนล้านบาท ยังไม่นับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ซึ่งถูกคัดค้านอย่างหนักจากหลายองค์กร ที่มิได้เป็นไปตามแผนแม่บท (Master Plan) หากสร้างจริงตามที่ประมูลแบบก่อสร้าง ก็จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์อีกหลายหมื่นตารางเมตร ที่จะต้องประมูล สรุปแล้วในช่วงเวลาของรัฐบาล คสช. จะต้องเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้ทั้งสิ้น

[caption id="attachment_345611" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

เรื่องการประมูลเพื่อให้ได้สัมปทานในกิจการต่างๆ ดังกล่าว ของ ทอท. นอกจากจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชนก้อนโตจำนวนมหาศาลของผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และสิทธิประโยชน์ของประชาชน ผู้ใช้บริการสนามบินทั้งชาวไทยและต่างประเทศทั่วโลก หากรัฐบาลจัดการได้ดี ผลประโยชน์ก็เกิดแก่รัฐและประชาชน สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาแก่รัฐบาล เสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่นายกฯ

หากรั่วไหลจัดการไม่ดีก็เป็นเรื่องราวฉาวโฉ่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่กระทั่ง ทอท.ถูกฟ้องเป็นคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้รัฐเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนผู้ประกอบธุรกิจในสนามบินรํ่ารวยเป็นมหาเศรษฐี ขณะเดียวกันการจัดการไม่ดีก็จะทำลายภาพลักษณ์ของนายกฯ ในด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้ตกตํ่า ส่งผลต่อความนิยมในการกลับมาสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งได้

ด้วยเหตุที่การประมูลในสนามบินสุวรรณภูมิมีผลประโยชน์มหาศาลและมีความสำคัญอย่างยิ่งดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่รัฐบาล คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องจัดการเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใส กว้างขวาง มีการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยยึดประโยชน์ของรัฐ ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา การประมูลและการดำเนินการใดๆ ของ ทอท.ล้วนแต่มีข้อครหาสงสัยถึงความไม่สุจริตโปร่งใส
b2-w6h4-4 จากการตรวจสอบของสภานิติบัญญัติฯ เมื่อปี 2549-2550 ซึ่งนายกฯ ก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ด้วยในช่วงเวลานั้น ก็พบความไม่ชอบมาพากลมากมาย สอดคล้องกับการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการดำเนินการตามสัญญาต่างๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ชุดที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น

แม้ต่อมาในยุคของ คสช.คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธาน ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาฉบับต่างๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็พบข้อเท็จจริงอันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐคือ ทอท.หลายหมื่นล้านบาทเช่นเดียวกัน

เฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ทอท.ในระดับผู้บริหาร โดยรายงานที่กรรมาธิการชุดนี้ตรวจสอบพบ ยังได้จัดทำรายงานเสนอต่อท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรงอีกด้วยเพื่อให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิด และผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบยังนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยศาลมีคำพิพากษาว่ามีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด

ในส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการ ต่างก็ให้ความสำคัญและให้ความสนใจเรื่องนี้ไม่น้อย มีการจัดเสวนาหลายเวที อาทิ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 คณะนิติศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดเสวนาเรื่อง “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” ซึ่งมีวิทยากรเป็นนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและผลงานวิจัยเข้าร่วมมากมายครบครัน เช่น ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นต้น

ผลของการเสวนาดังกล่าว วิทยากรล้วนมีความเห็นเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส และวิธีบริหารจัดการของ ทอท.ที่จัดประมูลให้เจ้าเดียวผูกขาด โดยได้เสนอให้มีการประมูลแบบหลายสัญญาและหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและให้สนามบินมีรายได้ และเห็นว่าประเทศไทยที่ไม่ทำ master concession เพราะเป็นเจ้าเดียวจะได้เกิดการเหมากินรวบ ดังที่เป็นอยู่ขณะนี้

เมื่อพิจารณาปัญหาโดยภาพรวมของ ทอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารกิจการสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอื่นๆ ในกำกับทั่วประเทศ จากผลงานการบริหารจัดการในอดีตที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ล้วนแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวฉาวโฉ่ มีข้อครหาสงสัยถึงความสุจริตโปร่งใสในการดำเนินโครงการต่างๆ หรือการประมูลสัมปทานให้เอกชนร่วมกิจการงาน ผู้บริหารมีพฤติการณ์อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก ไม่สมกับเป็นสนามบินแห่งชาติที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเล็กมีพื้นที่จำกัด และอยู่ในที่ตั้งทำเลไม่ดีอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ แถมราคาค่าอาหาร เครื่องดื่มอาจแพงที่สุดในโลก ประชาชนแทบไม่อยากทานอะไรในสนามบินเลยเพราะโคตรแพง

ถ้าจะอ้างว่าสภาพในอดีต เป็นผลงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากนักการเมืองในระบอบทักษิณ ย่อมอ้างได้ แต่บัดนี้ถึงเวลาที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างได้เซตซีโร่ เพื่อเริ่มต้นใหม่ในการจัดการประมูลหาเอกชนที่ดีมาร่วมสัญญาในกิจการงานกับรัฐ หรือบางโครงการรัฐจะดำเนินการเองก็ย่อมทำได้ เพราะทอท.มีประสบการณ์การบริหารสนามบินขนาดใหญ่มาแล้วด้วยตนเองนับสิบปี ทั้งอวดตัวว่าเป็นรัฐวิสาหกิจดีเด่น ก็น่าจะบริหารจัดการเองได้ในโครงการที่ตนถนัด

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อดำเนินการหาผู้ประกอบการรายใหม่ โอกาสนี้จึงหวังว่า รัฐบาล คสช.จะมีความกล้าหาญกล้าล้างบางกลุ่มอำนาจใน ทอท.ที่ทำตนเป็นสมุนรับใช้กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ในสนามบินสุวรรณภูมิเสียที ล้างภาพ ทอท.ใหม่ให้เป็นผลงานเด่นของคสช.เถอะครับ เพราะนี่เป็นโอกาสและเวลาแห่งสถานการณ์สร้างวีรบุรุษที่จะทำให้ คสช.มีโอกาสครองใจประชาชนได้

การเปิดโอกาสให้มีการประมูลอย่างกว้างขวาง ให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรม จะทำให้รัฐบาล คสช.เป็นที่ยอมรับและเป็นที่เคารพยกย่องจากประชาชน และทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก เป็นรัฐบาลที่มีมิตรและแนวร่วมมาก กว้างขวาง ดีกว่าจมปลักอยู่กับกลุ่มธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีในทางการเมืองในอนาคตด้วย

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคงยาวนาน เพราะเอาจริงเอาจังในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน นายกฯ มหาธีร์ สามารถกลับคืนสู่ตำแหน่งนายกฯมาเลเซียอีกครั้งด้วยวัย 90 ปี เพราะทำในเรื่องเดียวกัน นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง หากไม่ทำเรื่องปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน แล้วท่านจะมีจุดขายอะไร ล้างบาง ทอท.เถอะครับ แล้วท่านจะกลับมาอย่างสง่างาม

|คอลัมน์ : ข้าพระบาททาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี 
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3416 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย.2561
595959859