สบน. มั่นใจ! คุมต้นทุนบอนด์ ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่กระทบ ล็อกอายุยาวกว่า 80%

12 พ.ย. 2561 | 08:53 น.
สบน. ไม่หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุนพันธบัตร เหตุเป็นหนี้ระยะยาวกว่า 80% ที่ล็อกต้นทุนไว้แล้ว ขณะที่ มีหนี้ต่างประเทศไม่ถึง 5% ผิดความเสี่ยงครบ เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ล็อต 2 กลางปี จากวงเงินรวม 4.5 หมื่นล้านบาท

อย่างที่รู้กันว่า พันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลจะได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นพิเศษ นอกจากไม่มีความเสี่ยงแล้ว ยังจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจด้วย อย่างพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นอายุ 7 ปี และ 10 ปี ที่เปิดขายช่วงปลายปีงบประมาณ 2561 พบว่า ขยายวงเงินการขายออกไปถึง 4 ครั้ง เป็นวงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะพันธบัตรอายุรุ่น 10 ปี ให้อัตราผลตอบแทนกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจ แม้จะมีอายุยาว แต่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือน

แม้แต่การออกพันธบัตรออมทรัพย์ปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี และ 7 ปี ก็หมดในเวลารวดเร็ว จนต้องเพิ่มวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตกใจที่ไม่ถึงครึ่งวันก็ขายหมดเกลี้ยง 15,000 ล้านบาท ทั้งที่ระยะเวลาให้จองซื้อมีไปจนถึงวันที่ 29 มี.ค. 2562 ซึ่งหลังจากนี้จะทยอยออกเรื่อย ๆ ภายใต้วงเงินรวม 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า ไม่นานก็จะออกครบวงเงิน

"ปีที่แล้วตอนแรกก็ไม่เท่าไหร่ เราจึงค่อย ๆ ออก แล้วแต่ความต้องการของประชาชน ซึ่งปีนี้ก็คิดแบบนั้น แต่ปรากฏว่า ขายหมดเร็วมาก ซึ่งวงเงินออมทรัพย์จะไม่เยอะมาก เป็นการออกเฉพาะกลุ่ม เพื่อส่งเสริมการออมของรายย่อยและประชาชนทั่วไป ดอกเบี้ยจึงสูงขึ้นเล็กน้อย ไม่เหมือนการกู้มาลงทุนโครงการ ที่ต้องดูแลต้นทุน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อโครงการลงทุนได้"


MP19-3417-A

สำหรับแผนการก่อหนี้ภาครัฐในปีงบประมาณ 2562 จะมีทั้งที่เป็นกู้เพื่อชำระคืนหนี้เดิมที่ครบกำหนดและกู้ใหม่ ภายใต้วงเงิน 1.82 ล้านล้านบาท โดยเป็นตัวเลขการก่อหนี้ใหม่ 823,664.56 ล้านบาท โดยสัดส่วนการออกพันธบัตรจะไม่ต่างจากปีก่อนมาก เพราะยังเป็นตัวอ้างอิงอัตราผลตอบแทนในตลาด ส่วนพันธบัตรออมทรัพย์น่าจะมีการออกครั้งที่ 2 ในช่วงเดือน พ.ค. อายุ 7 และ 10 ปี

สำหรับการบริหารต้นทุนรัฐบาลในภาวะแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ สบน. จะต้องทำ คือ การรักษาอายุหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้ที่เป็นระยะยาวกว่า 80% ซึ่งส่วนนี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยตายตัวไว้แล้ว และระยะสั้นแค่ 10% กว่า ๆ ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดและอัตราดอกเบี้ย และถ้าดูเรื่องที่เป็นพันธบัตรต่างประเทศของไทยมีเพียง 4-5% ซึ่งไม่กระทบเช่นเดียวกัน


บาร์ไลน์ฐาน

"เราดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะห่วงเช่นเดียวกัน แต่เท่าที่ดูแล้วไม่ได้น่ากังวล เพราะหนี้ระยะสั้นที่ใกล้จะครบกำหนดชำระมีเพียง 10% เท่านั้น จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างผันผวน เพราะได้ปิดความเสี่ยงไว้หมดแล้ว โดยหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลเองก็อยู่ในระดับตํ่า รวมถึงการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ขยับขึ้นสูงเกิน 3% นั้น ก็พูดถึงกันเยอะ แต่เราค่อนข้างมั่นคง เพราะถ้าตามดูตลาดตราสารหนี้จะเห็นว่า กระแสเงินลงทุนต่างชาติเป็นบวกตลอด ไม่ค่อยมีปัญหา"


หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,417 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62