ความตกลงการค้าใหม่ USMCA

12 พ.ย. 2561 | 05:33 น.
 

คอลัมน์เทรดวอชต์

โดย บัณฑูร วงศ์สีลโชติ

ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ความตกลงการค้า USMCA ที่ 3 ประเทศ (สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก) จะร่วมลงนามวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นความตกลงใหม่แทน NAFTA มีเนื้อหาครอบคลุมทุกหัวข้อเหมือนที่มีใน TPP แต่ก็แตกต่างบางข้อเช่น 1. ภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากเม็กซิโกและแคนาดายังคงไว้ที่ 25% และ 10% ตามลำดับซึ่งทั้ง 2 ประเทศกำลังเรียกร้องให้ลดภาษีสินค้าทั้ง 2 รายการเป็นศูนย์ 2.สำหรับการส่งรถยนต์เข้าสหรัฐฯกำหนดให้มีวัตถุดิบที่เกิดในประเทศสมาชิก 3 ประเทศเพิ่มขึ้นจาก 62.5% เป็น 75% และอย่างน้อย 70% ของ เหล็ก กระจก และอะลูมิเนียมทั้งหมดในรถ 1 คันต้องผลิตในประเทศสมาชิกเท่านั้น

นอกจากนี้แรงงานมากกว่า 40% ที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ และมากกว่า 45% ในการผลิตรถ SUV ต้องมีค่าแรงอย่างน้อย 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง จึงจะได้สิทธิส่งเข้าสหรัฐฯภาษีศูนย์ มีผลทำให้การผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกส่วนที่มีค่าแรงงานตํ่าจะต้องทำน้อยลงกว่าที่เคย และผลิตในสหรัฐฯ หรือแคนาดามากขึ้น อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์สูงขึ้น มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่มกราคม 2563 ประเด็นนี้ทำให้คาดได้ว่าราคาขายต้องสูงขึ้น ดังนั้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ จากทั่วโลกปัจจุบัน 2.5% ต้องปรับสูงขึ้นเป็น 10-25% เพราะไม่เช่นนั้นความตกลงที่แก้ไขใหม่นี้ก็จะไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด เนื่องจากหากคงไว้ 2.5% ส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตสำเร็จเข้าไปสหรัฐฯ จะมีต้นทุนถูกกว่า ขายได้ราคาตํ่ากว่า  TP8-3417-A

เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปสหรัฐฯ จากทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไทย 3. ข้อบทที่ 1 ของ Annex 14-D ระบุว่า กฎเกณฑ์ระงับข้อพิพาท (dispute settlement) ภายใต้ USMCA ไม่ให้ใช้ได้หากผู้ฟ้องร้องเป็นบริษัทเอกชนที่มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มาจากประเทศที่เป็น non-market economy ซึ่งหมายถึงจีน 4. ข้อบทที่ 32.10 กีดกันไม่ให้เม็กซิโกและแคนาดาทำเอฟทีเอกับประเทศที่เป็น non-market economy ซึ่งหมายถึงจีน โดยหากทำจะต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบ 3 เดือนก่อนเริ่มการเจรจา และส่งมอบรายละเอียดความตกลงให้ประเทศสมาชิกพิจารณา 3 เดือนก่อนลงนาม และหากสหรัฐฯไม่พอใจก็สามารถใช้สิทธิยกเลิกความตกลง USMCA นี้ได้โดยแจ้งให้ทราบก่อน 6 เดือน แปลว่าแคนาดาและเม็กซิโกจะมีเอฟทีเอกับจีนไม่ได้ เข้าร่วม RCEP ก็ไม่ได้

จะเห็นได้ว่าทรัมป์มีจุดประสงค์กีดกันจีนจากประเทศที่มีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ อียูยังอยู่ในระหว่างเจรจากับสหรัฐฯ เชื่อว่าสหรัฐฯจะใส่ข้อบทนี้ลงไป จีนตระหนักดีว่าทรัมป์มีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีนเท่านั้น เพราะแม้ก่อนหน้านี้จีนได้เสนอซื้อสินค้าสหรัฐฯมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี แต่ทรัมป์ก็ไม่ตกลง เป้าหมายที่แท้จริงทรัมป์มุ่งขัดขวางเศรษฐกิจจีนไม่ให้เติบโตเร็ว ระเบียบการลงทุนในจีนนักลงทุนต่างชาติที่ไปลงทุนในจีนล้วนต้องมีบริษัทจีนร่วมถือหุ้นทำให้จีนได้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกๆ ประเทศกำลังพัฒนาได้ตั้งเป็นเงื่อนไข ในอดีตญี่ปุ่นและไทยก็มีเงื่อนไขนี้เหมือนกัน แต่ไทยปล่อยให้คนไทยหลายคน ธง

ถือโอกาสหารายได้เสริมโดยให้ใช้ชื่อเป็นนอมินีแลกกับรายได้เพียงเล็กน้อย ลงชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแบบหลอกๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อค่าแรงงานในจีนปรับตัวสูงขึ้น จีนได้มีนโยบายพัฒนาสินค้าจีนให้เป็นผู้นำโลกด้านสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายใต้โครงการ Made in China 2025 โดยจีนได้ทุ่มเงินมหาศาลในแต่ละปีสำหรับงานวิจัยและพัฒนาของจีนเอง เช่นในปี 2560 จีนได้ใช้เงินไป 2.79 แสนล้านดอลลาร์ และเชื่อว่าปีนี้กำลังใช้เงินลงทุนด้านนี้มากขึ้นอีก

จีนถูกจัดเป็นประเทศที่มีนวัตกรรม Global Innovation Index อันดับที่ 17 ของโลกในปี 2561 จากเดิมอันดับที่ 43 เมื่อปี 2553 สหรัฐฯมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้านวัตกรรมเป็นหลัก จึงเห็นว่าเป็นภัยคุกคามเมื่อจีนหันมาทำตลาดสินค้านวัตกรรม โดยกล่าวว่าการครอบครองตลาดสินค้านวัตกรรมจีนย่อมทำสำเร็จได้จากการอุดหนุนของรัฐบาลจีน บริษัทสหรัฐฯจะสู้ไม่ได้ สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลจากการเลือกตั้งวันที่ 6 เดือนนี้จะไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันล้วนมองจีนเป็นศัตรูเหมือน ๆ กัน

090861-1927-9-335x503-8-335x503

ตั้งแต่ปี 2556 จีนก็มีสถิติทำมูลค่าการค้ากับโลกสูงกว่าสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนโตเร็วมาก เมื่อเปรียบเทียบปี 2544 กับปี 2561 นี้ (ดูรูป) ลดความสำคัญของสหรัฐฯในโลกลง ทำให้สหรัฐฯเกิดความกลัว มาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนได้ทำให้บริษัทต่างชาติหลายๆ รายที่ลงทุนในจีนเริ่มไม่ขยายการผลิต เริ่มพิจารณาที่จะหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ อีกทั้งคนจีนเริ่มไม่มั่นใจ เริ่มบริโภคน้อยลง สถิติยอดขายรถยนต์ในจีนลดลง 11.36% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มมีปัญหา ทำให้เชื่อว่าในที่สุดจีนคงต้องยอมทรัมป์ในหลายเรื่องโดยมีนัดหมายระหว่างทรัมป์กับสี จิ้นผิงวันที่ 30 เดือนนี้ที่อาร์เจนตินา แต่ความตกลงก็อาจจะไม่มีเพราะจีนเองก็คงยอมตามข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ได้ เว้นแต่สหรัฐฯ ยอมผ่อนปรน สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะคนอเมริกันและคนจีนล้วนต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับให้สูงขึ้นอีกหลายครั้ง ลดความสามารถในการใช้จ่ายของทั้งคนจีนและคนอเมริกัน ส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจทั่วโลกลดลง บริษัทต่างๆ ทั่วโลกรายได้น้อยลง ราคาหุ้นในตลาดทั่วโลกลดลง ความมั่งคั่งของคนในโลกลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,417 วันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว