"โรงสีติดคดีจำนำข้าว" แห่ถอนเงิน! แบงก์เครียดสูญแล้ว 500 ล้าน - รัฐสั่งลุยริบหลักประกัน

12 พ.ย. 2561 | 05:39 น.
"โรงสีติดคดีจำนำข้าว" แก้เกมแบงก์รัฐริบเงินค้ำประกัน แห่ถอนเงินไปฝากที่อื่น 400-500 ล้าน ฟ้องกลับ อคส. เบี้ยวจ่ายค่าเช่าคลัง 'สนธิรัตน์' สั่ง 'ชุติมา' เรียกประชุมด่วน 15 พ.ย. เล็งงัดไม้เด็ดร่อนหนังสือสั่งยึดหลักประกัน

"คดีจำนำข้าว"
เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สร้างความเสียหายและยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไล่ลงมารัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และเอกชน 144 บริษัท โรงสี เจ้าของคลังที่เอี่ยวทุจริต สั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1.47 แสนล้านบาท ล่าสุด ทางรัฐบาลให้ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ริบเงินค้ำประกันและให้เร่งฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าว โดยต้องส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องให้ทันภายในเดือน ธ.ค. นี้ ก่อนหมดอายุความ ทั้งนี้ ในส่วน อ.ต.ก. ได้ส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องไปเรียบร้อย ยังเหลือแต่ อคส. ที่ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งเบรกริบเงินค้ำประกันโรงสีกว่า 100 โรง เพราะหากที่สุดแล้ว เอกชนชนะคดี เกรงจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ล่าสุด รัฐจะมีนโยบายในการดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ยังเกาะติดต่อเนื่อง


TP8-3417-B

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในที่ประชุม หลังจากผู้บริหารของ อคส. ได้รับการยืนยันจากที่ปรึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ไปหารือกับกฤษฎีกาในเรื่องนี้ อีกด้านก็ให้ปฏิบัติตามนโยบาย กล่าวคือ ดำเนินการยึดหลักประกันสัญญา (แบงก์การันตี) โดยให้ทำหนังสือถึงธนาคารที่คู่สัญญาเหล่านี้นำเงินไปฝากไว้เป็นหลักประกันสัญญา เพื่อขอยึดหลักประกัน ซึ่งธนาคารต้องนำเงินมาชำระหลักประกันสัญญาให้กับ อคส. ภายใน 15 วัน หากไม่ชำระภายในกำหนด อคส. จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้อง ทั้งคู่สัญญาที่ทำผิดสัญญาและธนาคารที่ทำผิดสัญญาค้ำประกัน


โรงสี

"ผลจากการดำเนินการ ล่าสุด ได้มีคู่กรณีที่ได้ถูกยึดหลักค้ำประกันแล้ว มีหมายมาฟ้อง อคส. 3-4 โรงด้วยกัน ตอนนี้ผลกระทบลามถึงธนาคาร เนื่องจากโรงสีที่เป็นลูกค้าธนาคารหลังถูกยึดค้ำประกันแล้ว ซึ่งเป็นหลักแค่ 10 ล้านบาท ได้ไปถอนเงินที่ฝากประจำไว้กับแบงก์ทั้งหมด ไปฝากกับแบงก์อื่น ทำให้ธนาคารเสียหายมาก ผู้จัดการธนาคารก็เครียดไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนโยบาย อีกด้านต้องสูญเสียลูกค้าที่มาฝากประจำปีละ 400-500 ล้านบาทไป แล้วเงินฝากไม่ใช่แค่รุ่นลูก ต่อเนื่องมาหลายรุ่นแล้ว การมองในภาพรวมจะเห็นหลายมิติ ฝ่ายโรงสีก็อาจจะรู้สึกไม่ดีกับธนาคารที่ไม่เชื่อใจในความบริสุทธิ์ ส่วนฝ่ายรัฐก็มองเป็นผู้ที่ทำให้ข้าวเสียหายจะมาโวยวายทำไม ขณะโรงสีที่ติดคดีก็พูดอะไรไม่ได้มาก เพราะอยู่ในฐานะตกเป็นจำเลย ว่า ทำให้ข้าวเสียหาย ทำไมไม่ดูแล"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้บริหารของ อคส. ว่า โรงสีติดคดีได้ฟ้องกลับมาแล้ว เบื้องต้น 3-4 ราย ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ว่า รัฐไม่มีสิทธิ์มาริบเงินค้ำประกัน รวมทั้งรัฐยังติดค้างค่าเช่าคลัง เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะหารือในที่ประชุมในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายรุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ อคส. เปิดเผยถึงกรณีการสั่งเบรกแบงก์ชำระเงินค้ำประกันโรงสีติดคดีจำนำข้าว เกรงว่า ถ้าหากไม่ผิดและชนะคดี เกรงจะมาฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เขาขาดโอกาสทางธุรกิจ เช่น บางคนบอกว่า มีลูกค้ามาสั่งซื้อข้าว ถ้าส่งได้สำเร็จก็จะมีออร์เดอร์ต่อเนื่อง แต่พอมายึดหลักทรัพย์ค้ำประกันก็จะถูกตัดโอกาส ไม่มีเงินซื้อข้าว และส่งข้าวให้ไม่ได้ อาจทำให้ลูกค้าบอกเลิกสัญญา อีกด้านหนึ่งเป็นห่วงผลกระทบจะไม่มีเงินไปซื้อข้าว แล้วชาวนาจะเอาข้าวไปขายที่ไหน


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,417 วันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว