วสท. ปลื้ม "งานวิศวกรรมแห่งชาติ" กระแสตอบรับดี

09 พ.ย. 2561 | 03:19 น.
วสท. สุดปลื้ม! กระแสตอบรับงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" ดีเกินคาด มีผู้เข้าชมงาน พร้อมภาครัฐ-เอกชน สนับสนุนนำผลงานนวัตกรรมร่วมงานคับคั่ง

F9E88014-BCE8-4F84-8298-560E677ED00F

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยกระแสตอบรับงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" (National Engineering 2018) งานสัมมนาวิชาการด้านวิศวกรรมและงานแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ดีเกินคาด มีผู้สนใจทั้งจากวิศวกรและผู้สนใจเทคโนโลยีเข้าร่วมฟังเสวนาและเข้าร่วมเยี่ยมชมงานโชว์เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ มากกว่า 25,000 คน ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ปลุกกระแสเทคโนโลยีนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต พร้อมเร่งเดินหน้าผลักดันการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ร่วมผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญารองรับการก้าวเข้าสู่ "ประเทศไทย 4.0" ในอนาคต

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวภายหลังจากเสร็จสิ้นจากการจัดงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" หรือ National Engineering 2018 ว่า จากภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัย การปรับปรุงมาตรฐาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพวิศวกรรมและสังคม ผ่านเวทีเสวนาและพื้นที่โชว์นวัตกรรมภายในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 ในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และบรรลุวัตถุของประสงค์ของการจัดงานตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องการให้เกิดการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของไทย ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน พร้อมร่วมอัพเดทเทรนด์และเทคโนโลยีวิศวกรรมโลกผ่านงานสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสการเป็นผู้นำของประเทศไทยทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และตอกย้ำความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้ที่สนใจทั้งจากวิศวกร นักศึกษา และผู้ชมทั่วไปที่สนใจเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าร่วมฟังเสวนาและเข้าร่วมเยี่ยมชมงานมากกว่า 25,000 คน ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้


14D5E43A-FAAA-4484-A95B-E16C267C24DB

สำหรับการจัดงานในปี 2561 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Engineering for Society : Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต" โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชั้นนำของประเทศไทย นำสุดยอดนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาจัดแสดงภายในงานมากกว่า 100 ราย เพื่อร่วมปฏิรูปประเทศสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยยกระดับสังคมสู่สมาร์ทไลฟ์-สมาร์ทเนชั่นอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยก้าวทันเทคโนโลยีและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดแก่สังคมไทย โดยมีไฮไลท์อยู่ที่เวทีปาฐกถาพิเศษจาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ช่วยสะท้อนบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีวิศวกรรมในการช่วยผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ

- การติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้เป็นบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ซึ่งในปีนี้มีบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนเอง นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาร่วมจัดแสดงภายในงานมากมาย เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พัฒนาแอพพลิเคชันที่เรียกว่า "PEA Hive Platform", เวทีเสวนาเรื่องบ้านปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างให้คนรู้และตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในอาคาร โดยมีวิทยากรระดับ Vice Pressident จาก National Fire Safety Association (NFPA) มาให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในอาคาร


B0E2C00A-7829-43DE-A05C-061C64825680

- นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถพลังงานไฟฟ้า (EV Car) นอกจากจะมีค่ายรถนำรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก นำมาโชว์และให้สอบถามรายละเอียดภายในงานแล้ว ยังมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในโครงการ "ซียู โตโยต้า ฮา : โม" มาให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองขับภายในงานอีกด้วย

- การประปานครหลวง ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการตรวจสอบสภาพท่อ หาตำแหน่งจุดแตกรั่ว โดยการใช้หุ่นยนต์เข้าไปสำรวจในท่อประปาแทน ในชื่อโครงการ "หุ่นยนต์สำรวจภายในท่อประปา 'ไกรทอง'" ซึ่งไกรทองสามารถช่วยให้การประปานครหลวงสามารถลดการสูญเสียน้ำในจุดงานที่หาตำแหน่งรั่วได้ยาก นอกจากนี้ยังมีชุดอุปกรณ์วิเคราะห์เสียงน้ำรั่วแบบพกพา ให้ศึกษาและสอบถามรายละเอียดได้


35CA1982-6029-4F19-9494-E6374B8EC16A

- บูธ ปตท. ได้นำเครื่องช่วยเดิน "Brain Machine Interaction System" สำหรับผู้ที่เป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ฝึกการเดิน โดยมีระบบสั่งการแบบ Real Time จากสมอง โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดว่าไม่เกิน 3-5 ปีนี้ จะมีการนำเครื่องนี้ไปอยู่ในแผนกกายภาพตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นอกจากนี้ ทาง ปตท. ยังได้นำนวัตกรรมโดรน MPIO ที่ใช้สำหรับการสำรวจปล่องไฟและท่อแก๊สทางอากาศ และเครื่องสำรวจทางน้ำ AUV มาให้ยลโฉมภายในงาน

- บูธ SCG กับเทคโนโลยีการก่อสร้างระบบผนังมวลเบาเสริมโครงเหล็ก

- บูธคลินิกช่าง บริการให้คำปรึกษา "ฟรี" ปัญหาเรื่องบ้าน บ้านทรุด บ้านร้าว และปัญหาทางวิศวกรรมต่าง ๆ โดยวิศวกรอาสาของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา

- โซนกิจกรรมจัดการแข่งขัน ซึ่งมีการจดการแข่งทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน อาทิ การแข่งขันการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ในงานเชื่อมอุตสาหกรรม โดยมีทีมจากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ชื่อทีม Charity เป็นทีมชนะเลิศได้เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล, การแข่งขันอากาศยานไร้คนขับ กรณีดับเพลิง (Drone for Firefighting) โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยนเรศวร, การแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้ (Battle Robot Warrior 2018) โดยมีทีม Mini FreeStly เป็นทีมชนะเลิศ


777FCB5E-2BA7-4FDE-ABC2-C1A70A76D25E

ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสของวิศวกรชาวไทย ที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิศวกรไทยต้องสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างประสิทธิผลให้ได้มากกว่าเดิม รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทดแทนการใช้แรงงานคน และจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายสาขา เพื่อตอบรับโอกาสของงานด้านวิศวกรรมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชน ที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ อาทิ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ต่างเห็นความสำคัญในการที่จะจัดให้มีเวทีเสวนาและจัดนิทรรศการเพื่อยกระดับความรู้วิศวกรไทย และได้มีการหารือกันถึงความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ต่อไปอีกด้วย

595959859