เดิมพัน! "7 เขื่อนใหญ่" ฝ่าวิกฤติแล้ง

08 พ.ย. 2561 | 12:41 น.
39165903_695447420816805_8314991569056825344_n
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบัน (8 พ.ย. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 57,569 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 34,027 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,557 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 12,861 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน


43502978_1883231445106955_2845504404415578112_n

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (8 พ.ย. 61) มีจำนวน 7 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสามารถจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างพอเพียง แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังได้ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวที่ไม่ได้ทำนาปรังให้มีรายได้ ซึ่งจะให้เฉพาะเกษตรกรที่เข้าร่วมการจ้างเเรงในหมวดงานปรับปรุงเเละซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงการชลประทานเท่านั้น


43612965_10216627999433264_2257285298671058944_n

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยนั้น กรมชลประทานจะใช้แนวทางการจัดการน้ำเขื่อนกระเสียวโมเดล ที่เคยประสบผลสำเร็จมาแล้วในการบริหารจัดการน้ำฤดูกาลปี 2558/59 ที่น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยเช่นเดียวกับปีนี้ ซึ่งกรมชลประทานจะขยายผลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนกระเสียวไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอื่น ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้สามารถผ่านพ้นปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยจะใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนมาร่วมกันวางแผนแก้ปัญหา พิจารณาตามความเหมาะสมและสถานการณ์จริง ควบคุมการใช้น้ำอย่างรัดกุมเคร่งครัดตามแผนที่วางไว้ ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ ตลอดจนเหลือสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2562 ด้วย


43480554_10216627998713246_2408919269380194304_n

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยระดมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,851 กระจายไปตามพื้นที่ตามสำนักงานชลประทานต่าง ๆ จำนวน 1,151 เครื่อง สำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 700 เครื่อง พร้อมระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 200 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งตามภูมิภาค จำนวน 150 คัน และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 50 คัน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก