'กฤษฎา' ชี้แจงผู้ชุมนุมกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่สามารถซื้อหนี้สินให้ทุกรายได้!!

08 พ.ย. 2561 | 12:20 น.
38492185_685134635181417_5488180107853955072_n
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) ที่ตนเป็นประธาน หมดระยะเวลาลงแล้ว ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ปฏิบัติงาน 180 วัน โดยให้แก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเร่งด่วน อีกทั้งได้เสนอแนวทางการปรับปรุงการบริหารงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการทำงานของ กฟก. ในปี 2542-2556 แล้วพบความไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีการไปซื้อหนี้เกษตรกรนอกเกณฑ์ที่ไม่ตรงเงื่อนไขระเบียบของ กฟก. ที่กำหนดว่าเป็นหนี้เกิดการจากภาคเกษตร มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย รวมทั้งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ด้วย


S__14303271

"การทำงานของ กฟก.ชุดเฉพาะกิจ ที่ผ่านมานั้น ได้เร่งทบทวนจำนวนเกษตรกรสมาชิกของ กฟก. พบว่า มีกว่า 6.7 ล้านราย แต่ที่ประสงค์ให้ กฟก. แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กว่า 4.5 แสนราย มูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ระเบียบที่ กฟก. สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ 5.5 หมื่นราย ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ต.ค. มีมติพิจารณาแก้ปัญหาหนี้สินลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 3.6 หมื่นราย ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรอีก 4.2 พันราย ที่อยู่ในระหว่างถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลและอยู่ระหว่างการบังคับคดี ทาง กฟก.เฉพาะกิจ ได้ประสานงานกับเจ้าหนี้ให้ชะลอการฟ้องร้องและประสานกรมบังคับคดีให้ชะลอการบังคับคดีออกไป ซึ่งเจ้าหนี้บางรายยินยอมชะลอให้ได้ 100 กว่าราย อีก 4 พันกว่าราย เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย" นายกฤษฏา กล่าว


S__14303260

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมเรียกร้องหน้ากระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้ กฟก. ดำเนินการช่วยเหลือซื้อหนี้ โดยให้ปฏิบัติตามมติ ครม. ปี 2553 ซึ่งจะให้กระทรวงเกษตรฯ เจรจากับธนาคารและสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้ให้ตัดเงินต้นร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยทิ้ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้ กฟก. ซื้อหนี้มา ซึ่งเกษตรกรจะผ่อนชำระกับ กฟก. แต่ด้วยระเบียบการเงินการคลัง ซึ่งดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับข้อเสนอแนะจาก สตง. ระบุว่า ทาง กฟก. ไม่สามารถเข้าไปซื้อหนี้นอกเกณฑ์ได้ รวมถึงได้สรุปผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามมติ ครม. ปี 2553 แล้วว่า มีกรณีที่ทำไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรเข้าใจถึงเหตุผลที่กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ จึงไม่สามารถแก้ไขโดยการซื้อหนี้สินตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรบางกลุ่มได้


S__14303262

"ทางกระทรวงเกษตรฯ เห็นใจพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ต้องการจะช่วยเหลือในแนวทางที่ทำได้ โดยเป็นคนกลางในการเจรจาให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้มาพบกัน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ เกษตรกรกรที่เป็นหนี้ต้องไปแสดงตนกับธนาคารและสหกรณ์เจ้าหนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ยืนยันมาว่าจะไม่เอาเปรียบเกษตรกรอย่างแน่นอน มีระเบียบในการยุติหนี้ในบางกรณี ได้แก่ ชราภาพ ผู้พิการ ผู้ป่วยที่ประกอบอาชีพไม่ได้ ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ญาติต้องไปแจ้งทางเจ้าหนี้ ซึ่งมีระเบียบยกหนี้ให้เลย หากเข้ากระบวนการเจรจาเแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้มาประสานกับ กฟก. อีกครั้ง สำหรับคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจที่ รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน สิ้นสุดวาระแล้ววันนี้ (8 พ.ย. 61) ดังนั้น อำนาจหน้าที่การจัดการหนี้สินเกษตรกรจะกลับไปเป็นของ กฟก. ดังเดิม ซึ่งจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการ กฟก. ขึ้นมาใหม่ เกษตรกรเป็นสมาชิกมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยสรุปผลการดำเนินงานของ กฟก.เฉพาะกิจ รายงานให้ ครม. รับทราบแล้ว" นายกฤษฏา กล่าว


090861-1927-9-335x503-3

สำหรับเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรภาคกลางราว 150 คน ยังคงชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงเกษตรฯ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ กฟก. ได้ไปชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขแก้หนี้ของ กฟก. แล้ว อีกทั้งยังมีสหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางมาชุมนุมในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ กฟก. เข้าซื้อหนี้เกษตรกรไปบริหารเอง ภายใน 15 พ.ย. นี้

595959859