"ปิยบุตร" เผยสิ่ง "ไม่ตรงปก" เพียบ หลังรัฐประหาร

08 พ.ย. 2561 | 10:22 น.
 




เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรม "รัฐศาสตร์วิชาการ 2018" เสวนาในหัวข้อ "ประเทศไม่ตรงปก" ตอนหนึ่งว่า 1541671973891

สำหรับประเทศไทยมีหลายเรื่องเป็นสิ่งไม่ตรงปก เช่น การสถาปนารัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งโดยหลักแล้วต้องมีที่มาจากทุกคนร่วมกันก่อตั้ง แต่ที่เกิดขึ้นคือ ร่างโดยคนไม่กี่คนเท่านั้น อีกทั้งคนที่รณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญถูกจับ มีคดีความอยู่ ขณะที่คนรณรงค์ให้รับสามารถทำได้,
สิ่งที่ไม่ตรงต่อมาคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นขัดแย้งไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะยังมีคำสั่งของหัวหน้า คสช. มาตรา 44 ที่ออกมาแล้วชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แสดงว่าคำสั่งนี้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ, บาร์ไลน์ฐาน
สิ่งที่ไม่ตรงปกอีกตัวอย่าง คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีหน้าที่ตรากฎหมาย ซึ่งโหวตกันทีไรก็ชนะตลอดโดยไม่มีฝ่ายคัดค้านในสภา ไม่เคยมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางเหมือนสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนว่า สนช. เป็นผู้แทนของราษฎร ถามว่าเป็นจริงไหม ก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน สรุปก็คือ ยิ่งเป็นรัฐบาลจากการยึดอำนาจ ยิ่งเป็นประทศไม่ตรงปกอีกหลายอย่าง เหตุนี้ถึงพยายามบอกว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์


นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า วันนี้เมื่อ 71 ปีที่แล้ว คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีการรัฐประหารยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ถือว่าเป็นการปิดฉากคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารแทรกแซงการเมือง และนับจากนั้นวงจรอุบาทว์ก็เริ่มต้น คือ ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แล้วก็มีวิกฤตนำมาสู่การรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญ วนเวียนอย่างนี้จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ ซึ่งเรามักบอกว่า สาเหตุที่เกิดวงจรอุบาทว์นี้ มาจากนักการเมืองขี้โกง เกิดความแตกแยก เหล่านี้คือชุดเหตุผลที่นำมาอธิบาย จนราวกับว่ารัฐประหารที่เป็นเรื่องผิดปกติกลับกลายเป็นนเรื่องปกติในสังคมไทย
แต่แท้จริงแล้ว ถามว่า วงจรอุบาทว์นี้ เกิดจากนักการเมืองหรือเกิดจากการแทรกแซงอำนาจของทหารกันแน่ ที่ทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นอีก ประชาธิปไตยค่อยๆ พัฒนาไป แต่จู่ๆ ทหารก็เข้ามาตัดตอน ล้มทิ้ง แล้วพอมีอำนาจแล้วติดใจ อยากอยู่ต่อ โดยที่ไม่มีประสบการณ์ ก็ทำการดึง ดูด นักการเมืองมาเต็มไปหมด เป็นอย่างนี้มากี่ครั้งแล้ว ทั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันนท์ หรือแม้แต่การยึดอำนาจของ รสช. ปี 2534 ทหารยึดอำนาจแล้วก็มาตั้งพรรคการเมืองเช่นกัน

"ล่าสุด รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน กำลังพัฒนาไป กำลังจะเข้ารูปรอย แน่อนอาจจะมีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากก็ถกก็แก้ว่ากันไป แต่ไม่ควรแก้ด้วยการยึดอำนาจอย่างที่ทำในปี 2549 แล้วก็มามีรัฐประหารซ่อมในปี 2557 ล่าสุด ก็จะกลับไปสู่แบบเดิม คือทหารยึดอำนาจแล้ว ตั้งพรรคการเมืองแบบเดิม การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แน่นอนว่ามีปัญหา เพราะเป็นระบอบที่ประกันเสรีภาพในการแสดงออก คนจำนวนมากเห็นไม่ตรงกัน ก็มีปัญหาอยู่แล้ว จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ ปัญหาจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งวิธีการแก้ก็คือเพิ่มประชาธิปไตยเข้าไปอีก ไม่ใช่การยึดอำนาจ ปัญหานักการเมืองซื้อเสียง หรือประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็ต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่หันไปหาการยึดอำนาจ ประชาธิปไตยมีปัญหา วิธีแก้ไขคือต้องเติมประชาธิปไตยให้เข้มขึ้น ไม่ใช่ไปหาเผด็จการทหาร" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า เวลาเราดูรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่ดูเป็นรายมาตรา แต่ควรต้องดูที่มา ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และจุดประสงค์ในการเกิดขึ้นด้วย รัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจเขียนให้ตายอย่างไรก็สนับสนุนคนยึดอำนาจ ขณะรัฐธรรมนูญที่มาประชาชนก็จะเป็นอีกแบบ สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อดูแล้วจะเห็นว่า เป็นการพยายามทำให้วัตถุประสงค์การรัฐประหารนั้นฝังเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราจึงเห็นวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง เห็นแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ไม่อาจแก้ไขได้ เห็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐธรรมนูญนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดอำนาจของผู้ทำการรัฐประหาร
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จึงเกิดการแบ่งเป็น 2 พลัง คือ พลังที่ 1 ใช้การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. หมายความว่า ต่อไปนี้ นักการเมืองในเครื่องแบบทหาร จะเป็นทหารที่ยึดอำนาจแล้วลงเลือกตั้ง กับ พลังที่ 2 ใช้การเลือกตั้งเพื่อสกัดกั้นไม่ให้การสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นได้ การเลือกตั้งครั้งนี้คือเดิมพันสำคัญ คือเครื่องมือในการยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเริ่มต้นการนำประชาธิปไตยกลับมา