'วิษณุ' กาง "ปฎิทินการเมืองไทย" ได้รัฐบาลใหม่ มิ.ย. 2562

08 พ.ย. 2561 | 09:57 น.
'วิษณุ' กางปฏิทินเลือกตั้งให้ ครม. เตรียมการแล้ว เริ่มใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 11 ธ.ค. ส่อขยับปลดล็อกหลังประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ยันคำเดิม! เลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ได้ ครม.ใหม่ ภายใน มิ.ย.

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงปฏิทินการทำงานของรัฐบาลในการเลือกตั้ง ว่า หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 จะเริ่มนับกำหนดเวลาให้ต้องจัดเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 150 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งจากการหารือกับ กกต. แล้วเห็นว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ วันที่ 24 ก.พ. 2562


Tp14-3417-A

โดยวันที่ 16-27 ธ.ค. 2561 กกต. จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอ ก่อนเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด ต่อด้วยการเลือกระดับประเทศ ให้ได้ 200 คน แล้วส่งต่อให้ คสช. เลือกตัวจริง 50 คน และตัวสำรอง 50 คน ซึ่งระหว่างนี้ คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9-12 คน เพื่อเตรียมการคัดเลือก ส.ว. ในส่วน 194 รายชื่อ

ขณะเดียวกันจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง กกต. เป็นผู้ยกร่างและเสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป และเมื่อมี พ.ร.ฏ.ดังกล่าว ออกมาแล้ววันใด ภายใน 5 วันหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ให้ กกต. ออกประกาศยืนยันวันเลือกตั้ง ประกาศเขตเลือกตั้ง และจำนวน ส.ส. ในแต่ละเขต และภายใน 25 วัน หลังจากมี พ.ร.ฎ.นี้ ให้มีการประกาศวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองต้องแจ้งชื่อผู้ที่จะเข้ารับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีให้ กกต. รับทราบ

จากนั้นจะไปสู่การปลดล็อกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2558 และการห้ามหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เริ่มการทำกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ได้ หาเสียงเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ วันที่ 28 ธ.ค. เป็นวันสุดท้ายของการส่งร่าง พ.ร.บ. ให้ สนช. พิจารณา

ส่วนการเลือก ส.ว. นั้น ในวันที่ 2 ม.ค. กกต. ส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือก ส.ว. จำนวน 200 คน ให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 คน และสำรอง 50 คน

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับเดือน ก.พ. 2562 ในวันที่ 9 ก.พ. 2562 คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือก ส.ว. ทั้งหมด 400 คน ให้ คสช. คัดเหลือ 194 คน สำรอง 50 คน และมี ส.ว. ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตำแหน่ง 6 คน

วันที่ 15 ก.พ. สนช. จะหยุดการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด ยกเว้น ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมายใด รัฐบาลจะใช้อำนาจออกกฎหมายนั้นเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ออกเป็นคำสั่ง คสช. และในวันที่ 24 ก.พ. 2562 จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ 500 คน

สำหรับเดือน มี.ค. 2562 เป็นช่วงที่ กกต. พิจารณาข้อร้องเรียน การให้ใบเหลือง-ใบแดงในการเลือกตั้ง

ขณะที่ เดือน เม.ย. 2562 นั้น กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในวันที่ 24 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลา 60 วัน นับจากวันเลือกตั้ง แต่ถ้ายังได้ ส.ส. ไม่ครบจำนวน ให้ประกาศผลไปก่อน แล้วสามารถยกเลิกในภายหลังได้ และในวันที่ 27 เม.ย. เป็นวันสุดท้ายที่ คสช. ต้องพิจารณารายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. รวม 250 คน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

สำหรับเดือน พ.ค. 2562 สนช. จะสิ้นสุดลง 1 วัน ก่อนเสด็จฯ เปิดการประชุมรัฐสภา ซึ่งกำหนดการเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภาจะสิ้นสุดภายในวันที่ 8 พ.ค. 2562 และเมื่อเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภาแล้ว จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ต่อด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องจัดตั้ง ครม. ซึ่งรัฐบาลเก่าและ คสช. จะสิ้นสุดลง เมื่อ ครม.ชุดใหม่ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ คือ ภายในเดือน มิ.ย. 2562

และนับจาก ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไปแล้ว 15 วัน ครม.ชุดใหม่ จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจะเริ่มการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ โดยมีภารกิจในวันที่ 22-23 มิ.ย. 2562 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียน

ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง มาตรา 173 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รองนายกฯ กล่าวว่า กำหนดให้เริ่มนับเงินบาทแรกตั้งแต่วันที่มี พ.ร.ฎ.นี้ มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลังจากมี พ.ร.ฏ.ดังกล่าว ออกแล้ว พรรคการเมืองต่าง ๆ จะมีเวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 60 วัน ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สำหรับการหารือระหว่าง คสช. จะหารือกับพรรคการเมืองนั้น ตนไม่ทราบว่าจะกำหนดวันใด แต่คาดว่าภายในเดือน พ.ย. นี้ และเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีไม่มีภารกิจเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ

ส่วนการวางตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มีข่าวจะเป็น 1 ใน 3 ชื่อ ที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกฯ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับรัฐมนตรีทั้งหมด เพราะการที่พรรคการเมืองเสนอชื่อนั้น ไม่ได้แปลว่ามีส่วนได้เสียทางการเมือง ไม่เหมือนกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะการเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ สามารถเสนอคนนอกพรรคก็ได้ แต่ถ้าเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ให้คุณหรือให้โทษต่อพรรคใด ซึ่งเป็นมาตรฐานปกติ ไม่ใช่มาตรฐานที่พิสดารแต่อย่างใด

ส่วนการปฏิบัติตัวของ ครม. ต้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.รัฐมนตรี 4 คน ที่ไปเกี่ยวข้องกับการทำงานในฐานะพรรคการเมือง แม้ไม่มีความเสียหายเรื่องของกฎหมาย แต่ต้องดูเรื่องมารยาท โดยให้ระวังเรื่องการใช้เวลาราชการ ทรัพย์สินทางราชการ บุคลากรของรัฐ และสถานที่ทางราชการ ซึ่งต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของพรรคและทางการเมืองที่ไม่ใช่รัฐบาล 2.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเหมือนที่ผ่านมา โดยวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ให้คุณให้โทษแก่ผู้ใด หรือหวังผลในทางการเมือง

ขณะที่ สถานภาพของรัฐบาลปัจจุบันนั้น จากการที่รัฐบาลหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เว้นแต่จะมีเหตุใดเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องพ้นไป เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. และรัฐบาลนี้อยู่แบบมีอำนาจเต็มต่อไป จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนรับหน้าที่

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว