สถาบันยานยนต์คาด "แผนแม่บทฉบับใหม่" แล้วเสร็จ Q2 ปี 2562

08 พ.ย. 2561 | 04:16 น.
สถาบันยานยนต์เตรียมร่างแผนแม่บทฉบับใหม่ พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "มองอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" โดยมีค่ายรถ-ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมสมอง



IMG_0864a

สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์จะมุ่งไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ที่เน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติและการเชื่อมต่อ (Automated & Connected) มาใช้ในยานยนต์ อันจะนำไปสู่แนวคิดการใช้ยานยนต์ร่วมกัน (Sharing Mobility) ต่อไปในอนาคต

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สถาบันเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก จึงมีแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ (2562-2566) เพื่อนำเสนอหน่วยงานรัฐนําไปใช้ประกอบการวางแผนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวมีกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อไปผลลัพธ์ โดยในขั้นต้นจะเป็นการจัดทําภาพอนาคต (Scenario Planning) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยผ่านกระบวนการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี (Technology Foresight) ที่เป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ โดยสถาบันได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการในการนี้

นายอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อมองอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จาก 80 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และประสบการณ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานรัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประกอบไปด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา ขณะที่ ภาคเอกชน ประกอบไปด้วย ผู้ผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ รถบรรทุก และรถโดยสาร รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จากบริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทย มีนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ที่ทันสมัย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมของคนไทย

"ผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมแสดงความคิดเห็นภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป้าหมาย ปัจจัยแห่งความสำเร็จ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อที่สถาบันฯ จะนำข้อมูลมารวบรวมวิเคราะห์และนำไปจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนตไทยฉบับใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562"


car1

ภายในงานการประชุมยังมีการนำเสนอผลการศึกษา แผนและเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศที่สำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น จีน เวียดนาม และสิงค์โปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคเดียวกันและมีข้อตกลงทางการค้า การส่งออก และนโยบายทางภาษีที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งมีผลทางตรงต่อการผลิตยานยนต์ในอนาคตของไทย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อจากนี้จะแตกต่างจากอดีต ที่คำนึงถึงแต่ภาพการผลิตต้นทุนต่ำ ผลิตให้ได้จำนวนมาก เพื่อมีกำไรสูง แต่จะเปลี่ยนเป็นการผลิตที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งกระบวนการและผลิตภัณฑ์ จึงจะเกิดกำไรสูง ดังนั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อสร้างผลกำไร โดยการหานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาพัฒนาการผลิต เพื่อตอบสนองเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

นางสาวฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้ชำนาญการพิเศษ สถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สรุปผลการศึกษาแผนและเป้าหมายของแต่ละประเทศ พบว่า เทคโนโลยีแรก คือ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทุกประเทศมีการศึกษาและมีนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ระบบขับขี่อัจฉริยะ หรือ ไร้คนขับนั้น แต่ละประเทศมีการพัฒนาอยู่ในช่วงทดลองนำร่องวิ่งบนถนนและประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะค่อนข้างได้เปรียบ แต่ทั้งนี้ข้อกฎหมายและระเบียบเรื่องความปลอดภัยทั้งข้อมูลและทรัพย์สินยังเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ต้องรีบดำเนินการให้สอดคล้องต่อการใช้งาน

 

[caption id="attachment_343449" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]