"ไทย-จีน" ร่วมมือ ศก. พุ่งเป้าการค้า 3 ปี 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

07 พ.ย. 2561 | 08:00 น.
"ไทย-จีน" ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 7 ด้าน ทั้งการค้า-การเงิน-อุตสาหกรรม-ลงทุน-ท่องเที่ยว-วิทยาศาสตร์-นวัตกรรม-เทคโยโลยีฯ ดันเป้าการค้าทะลุ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2564

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนจีน เปิดเผยว่า ในการพบหารือระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน ในวันที่ 7 พ.ย. 2561 ณ กรุงปักกิ่ง ทั้ง 2 ฝ่าย ได้เห็นชอบเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของ 2 ประเทศ เป็นผู้ลงนาม


สมคิด1

สำหรับเอกสารดังกล่าว มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการค้า ร่วมมือเพื่อขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2564 ซึ่งรวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo เป็นประจำทุกปี ส่งเสริมความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร และให้จัดประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน และคณะทำงานสนับสนุนการค้าอย่างไร้อุปสรรคเป็นประจำ

2.ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร อาหารเพื่ออนาคต และการบินและโลจิสติกส์

3.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย (Food Innopolis) เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมโครงการสำรวจความร่วมมือด้านอวกาศของจีน ร่วมมือด้านการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์

4.ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เทคโนโลยี 5G และการลงทุนในอุทยานดิจิทัลในไทย รวมถึงยกระดับความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเคเบิ้ลใต้น้ำและโครงข่ายใยแก้วนำแสง


สมคิด2

5.ด้านการเงิน ส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขยายความร่วมมือและส่งเสริมบริการทางการเงินสมัยใหม่ (Fintech)

6.ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ การบริการเรือข้ามฟาก และธุรกิจบริการน้ำพุร้อน

7.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) กรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า จีนมีความสำคัญในฐานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย และด้วยขนาดของประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งไทยได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง


สมคิด3

โดยในการพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ฝ่าย ในการเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ ได้เห็นชอบการลงนามเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและต่อเนื่องต่อไป

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้า 2 ฝ่าย มีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 และในช่วงเดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

ติดตามฐาน