ธนชาตปลื้ม9เดือนเบี้ยประกันทะลุเป้า

07 พ.ย. 2561 | 07:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

ธนชาตประกันภัย ยํ้าไม่เน้นกำไรบริหารพอร์ต 1.2 หมื่นล้านบาท มุ่งลงทุนความเสี่ยงตํ่า คาดผลตอบแทนเข้าเป้า 3.4% เผยผลงาน 9 เดือน เบี้ยรับรวมโต 5% เกินเป้าทั้งปี คาดสิ้นปียอดเบี้ยแตะ 8 พันล้านบาท ฟุ้งยอดเคลมน้อย ต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมตํ่า 86% ดันความสามารถทำกำไรสูง 14%

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทเน้นสร้างกำไรจากการรับประกันภัยมากกว่าผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้นการบริหารจัดการลงทุนปีนี้ ยังเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตํ่า โดยเบี้ยที่ได้รับจากลูกค้าที่ทำประกันภัยส่วนใหญ่จะแบ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีการจัดอันดับ(Rating) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานและเงินฝาก โดยมีพอร์ตลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าผลตอบแทน (Yield) เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.4% ซึ่งแนวโน้มสัดส่วนลงทุนปี 2562 น่าจะใกล้เคียงปีนี้

[caption id="attachment_343749" align="aligncenter" width="359"] พีระพัฒน์ พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี[/caption]

ส่วนภาพรวมธุรกิจช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยรับรวม 5.8 พันล้านบาทขยายตัว 5% คาดว่าสิ้นปีจะจบที่ 8 พันล้านบาทเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.9 พันล้านบาท เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายจะมีอัตราขยายตัวค่อนข้างสูงสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโต 20% โดยปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจประกันภัยรถยนต์ (Motor) 85% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non Motor) 15% แบ่งเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (P/A) ประมาณ 14% ขึ้นมาอยู่อันดับ 6 ของตลาด จากปีก่อนอันดับ 10 และอีก 1% เป็นประกันบ้าน (MRTA)

ขณะที่ช่องทางการขายแบ่งเป็น ช่องทางผ่านธนาคาร 25% ตัวแทนบริษัทในเครือ 30% เทเลเซล 15% ดีลเลอร์ 15% และที่เหลือจะเป็นอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์ อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทพยายามทำตลาดผ่านช่องทางดิจิตอลมาก
ขึ้น แต่จะเห็นว่า คนไทยยังซื้อประกันภัยผ่านออนไลน์ไม่สูงมาก โดยจะใช้ช่องทางดิจิตอล เพื่อค้นหาข้อมูล
และเปรียบเทียบข้อมูล และจะซื้อผ่านช่องทางพื้นฐานที่มีอยู่ ทำให้สัดส่วนเบี้ยประกันผ่านดิจิตอลเติบโตไม่สูงมาก

โดยมีสัดส่วนประมาณ 5% ของเบี้ยรับรวมเท่านั้น  ช่วง 2 เดือนสุดท้าย จะเห็นว่า การแข่งขันด้านราคาเริ่มชะลอความรุนแรงลง เพราะหลายๆบริษัทที่เน้นแข่งขันด้านราคาก่อนหน้านี้เริ่มหยุดและเริ่มถอย โดยเฉพาะประกันภัยชั้น 1 จะหยุดแข่งขันตัดราคากันแล้ว ซึ่งบริษัทไม่ได้เน้นแข่งด้านราคาอยู่แล้ว โดยราคาจะปรับตามความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งลูกค้าที่มีวินัยหรือลูกค้าบริษัทจะปรับราคาลง และอาจปรับราคาเพิ่มในรายลูกค้าที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อย

อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถรักษาอัตราความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ทรงตัวอยู่ที่ 56% และอัตราการต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 75% จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าราว 1 ล้านราย คิดเป็น 1.5 ล้านกรมธรรม์ เฉลี่ยลูกค้า 1 ราย ถือผลิตภัณฑ์ประกัน 1.5 โปรดักต์ และมีต้นทุนในการดำเนินงาน (Operation Cost) อยู่ที่ 9% จากในช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ 10-11% ถือว่าค่อนข้างตํ่ากว่าตลาดที่อยู่ 15% ส่งผลให้อัตราค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมดอยู่ที่ 86% ซึ่งตํ่ากว่าแห่งที่อยู่สูงกว่า 90% และจากแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่บริหารจัดการได้ดี ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรสูงที่ 14%

“เราขยายตัวทุกโปรดักต์ เช่น P/A ขยายตัวค่อนข้างดี มาจากช่องทางธนาคารและโบรกเกอร์ ซึ่งไม่ได้ผลกระทบเรื่อง Market Conduct เพราะเราปรับวิธีการขายชัดเจน ส่วนบุคลากรด้านการสำรวจภัยยังคงเพิ่มต่อเนื่องปัจจุบันอยู่ที่ 280 คนจาก2-3 ปีก่อน 250 คน เราเพิ่มตามสถิติ เพื่อให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น”

ล่าสุด บริษัทเปิดตัว Line Official Account ในชื่อ “ธนชาตประกันภัย” บริการที่ให้ลูกค้าสามารถเคลมประกันผ่านออนไลน์แบบครบวงจร โดยเชื่อมต่อทุกบริการเข้าด้วยกันและภายในต้นปี 2562 ลูกค้าสามารถซื้อหรือต่ออายุประกันผ่านออนไลน์ด้วยตนเอง รวมถึงแจ้งเตือนต่ออายุด้วย

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว