BBL ห่วงคอนโดฯ ล้น! ชี้สัญญาณอันตราย กำลังซื้อไม่ฟื้นลามปีหน้า

08 พ.ย. 2561 | 08:36 น.
ประธานบริหารแบงก์กรุงเทพ ส่ง "สัญญาณอันตราย" หวั่น! คอนโดฯ-มิกซ์ยูสล้นตลาด สงครามการค้าฉุดส่งออก ต่างชาติแย่งตลาดเอสเอ็มอี กำลังซื้อรากหญ้าไม่ฟื้นลามเศรษฐกิจ พร้อมประเมินปีหน้าโตไม่เกิน 4.5% หนุนเลือกตั้งเร็ว โปร่งใส เพิ่มเชื่อมั่นดึงนานาชาติลงทุน

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แสดงความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่มีการก่อสร้างจำนวนมาก แต่ยังขายไม่ออก จนต้องมีการลดแลกแจกแถม ถือว่าเป็นสิ่งอันตรายอย่างมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องวางกฎระเบียบเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะกลัวว่าจะเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งธนาคารกรุงเทพระมัดระวังเรื่องนี้พอสมควร และมีขั้นตอนกลั่นกรองลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_343739" align="aligncenter" width="503"] เดชา ตุลานันท์ เดชา ตุลานันท์[/caption]

ธนาคารกรุงเทพเห็นด้วยหาก ธปท. จะควบคุมดูแลอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ในปีหน้า พร้อมมั่นใจว่า มีผลกระทบกับธนาคารน้อย เพราะการปล่อยกู้เกิน LTV ที่ระดับ 100% ไม่สมเหตุสมผล เป็นสิ่งจำเป็นที่ ธปท. ต้องควบคุมการแข่งขันของธนาคาร

ขณะที่ การเปิดให้เอกชนประมูลที่ดินมักกะสันในพื้นที่ 150 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานออฟฟิศ หรือ คอนโดมิเนียม ส่วนตัวมองว่าจะไม่ง่าย ในการจะหาคนเข้ามาอยู่จนเต็มพื้นที่ และปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่จะก่อสร้างอาคารสูงหรือตึกจำนวนมหาศาล อาทิ โครงการ One Bangkok ของกลุ่มทีซีซีและเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ลิมิเต็ด หรือ โครงการก่อสร้างตึกกว่า 100 ชั้น ของ GLAND โครงการเดอะซุปเปอร์ทาวเวอร์ประมาณ 125 ชั้น รวมทั้งแผนรื้อโรงแรมดุสิตธานี เพื่อก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานในรูปแบบมิกซ์ยูส เหล่านี้จะทำให้มีความต้องการน้อยลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.2% ไม่เกิน 4.5% โดยภาพรวมแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ทำให้ด้านก่อสร้างมีการใช้วัตถุดิบและคนมีงานทำ แต่เชื่อว่าการค้าทั่วไปและธุรกิจส่งออกจะสู้ปีนี้ไม่ได้ สาเหตุจากปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยสหรัฐอเมริกากำหนดมาตรการภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้า ทำให้สินค้าส่งออกของไทยราคาแพงขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปไม่ค่อยดี ยังมีประเด็นต่อสู้กันเรื่องอังกฤษพยายามจะออกจากประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น


MP24-3416-A

ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะถูกแย่งตลาด ถ้าเปิดให้ต่างชาติรวมถึงจีนเข้ามาทำธุรกิจ หากวางระเบียบไม่ดี เอสเอ็มอีไทยจะลำบาก ด้วยต้นทุนผลิตสูงกว่า ทั้งการก่อสร้างและการซื้อการขาย แม้ธนาคารจะสนับสนุนด้านความรู้ต่าง ๆ การบันทึกบัญชีเดียว รวมถึงความเป็นห่วงธุรกิจส่งออก ซึ่งเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งออกหด 5.5% และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มจะถูกกระทบจากมาตรการภาษี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังในปีหน้า คือ เศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังไม่ฟื้น อาจจะลุกลาม และต้องพยายามดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล แม้อาจจะเพิ่มบ้าง แต่ต้องรักษาระดับอย่ามากเกินปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการเลือกตั้งได้เร็วและโปร่งใสจะทำให้ทั่วโลกกล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น เช่น ยุโรป สหรัฐฯ หรือหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน โดยที่รัฐบาลไทยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเต็มที่

"ช่วง 2 เดือนที่จะสิ้นปีนี้ คงไม่มีอะไรตื่นเต้น ขณะที่ รัฐบาลยังพยายามจะสนับสนุนศรษฐกิจให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เศรษฐกิจรากหญ้าเชื่อว่ายังไม่ฟื้น เพราะผมไปต่างจังหวัด หลายแห่งธุรกิจเงียบ ๆ ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร แต่ปีหน้าถ้ามีเลือกตั้งเร็วและโปร่งใสจะทำให้ทั่วโลกมองไทยและกล้าเข้ามาลงทุนจากหลายประเทศ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน"


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในปีหน้า จะเน้นสินเชื่อธุรกิจสาขาต่างประเทศ จะต้องมีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศของธนาคารรวมทุกประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18% เทียบกับฐานสินเชื่อรวมด้วยเครือข่ายในต่างประเทศ 32 แห่ง ใน 15 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเมียนมา โดยในอินโดนีเซียนั้น มีการขยายตัวทั้งธุรกิจก่อสร้างขุดเจาะนํ้ามัน ขณะใน สปป.ลาว เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังนํ้า แล้วนำไฟฟ้ามาใช้ในไทย

"ปีหน้าสินเชื่อเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 3-5% ตามเป้า เน้นสินเชื่อธุรกิจคละกันไปในต่างประเทศ คาดว่าสิ้นปีนี้จะขยายสินเชื่อได้ 5%"

ขณะที่ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 28,103 ล้านบาท หรือ 1.2% ขณะที่ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวม 84,137 ล้านบาท หรือ 3.6% โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองขั้นตํ่า ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 อยู่ที่ 230.1% ขณะเดียวกันธนาคารยังกันสำรองเพิ่มต่อเนื่อง แม้ว่าเวลานี้จะมีกันสำรองเกินเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IFRS9 แล้วก็ตาม

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว