ท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ3เป็น1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนรองรับการลงทุนในอีอีซี

14 พ.ย. 2561 | 04:16 น.
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติโครงการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4 โครงการในวงเงิน 4.7 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้ออกเงื่อนไขการลงทุน (TOR) และเปิดขายซองภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี มีกำหนดเปิดขายซอง TOR ตั้งแต่วันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะเปิดให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาเข้ารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดของข้อกำหนดในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2561 และจะมีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในราวเดือนกุมภาพันธ์  2562

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นับเป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนสำคัญเพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับ 3 จังหวัดดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น ประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 42,500 ล้านบาท  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางนํ้าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว รวมทั้งขยายการให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะเพิ่มขึ้น

12-3416

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรก กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และให้เอกชนที่ร่วมลงทุนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็นกนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

[caption id="attachment_343449" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ (Superstructure)  โดยให้เอกชนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 จะเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งนับเป็นท่าเรือสาธารณะที่จะสามารถรองรับการขนถ่ายวัตถุดิบเหลวที่จะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่จะมีส่วนยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจร่วมพัฒนาโครงการการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ieat.go.th

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว