รัฐมนตรี ผู้เดินตามศาสตร์พระราชา

09 พ.ย. 2561 | 08:42 น.
 

“คนทำงานด้วยมือ อยู่ยาก คนทำงานด้วยปาก อยู่สบาย” สัจธรรมนี้ หลายๆ คนคงได้พิสูจน์เห็นจริงมาแล้ว และสำหรับ “อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามารับตำแหน่งใน “ครม.ประยุทธ์ 5” คือคนที่ทำงานด้วยมือ และพร้อมที่จะเข้ามาท้าทายการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เกษตรของไทย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_343512" align="aligncenter" width="335"] ดร.วิวัฒน์-ศัลยกำธร-ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ-และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง วิวัฒน์ ศัลยกำธร[/caption]

“อ.ยักษ์” ออกจากชีวิตราชการไป 20 ปี แล้วก็กลับมาอีกครั้งกับภารกิจรัฐมนตรี แต่อาจารย์บอกเลยว่า ชอบชีวิตติดดิน เดินอยู่ในบรรยากาศโล่งๆ สัมผัสงานเกษตรด้วยมือและเท้า แต่เมื่อรับภารกิจแล้วท่านก็เดินหน้า นำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากศาสตร์พระราชามาลุยงานเต็มที่ เพื่อจัดระบบระเบียบโครงสร้างของกระทรวงให้เรียบร้อย เพื่อทำให้เป็นกระทรวงเกษตรฯ เป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นแนวทางการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาให้เดินหน้าไปเร็วยิ่งขึ้น การกลับเข้าสู่กระทรวงเกษตรฯ อันเป็นถิ่นเดิมครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี

ภารกิจที่ “อ.ยักษ์” เข้ามารับผิดชอบ เบื้องต้นได้พูดคุยถึงงานที่อยากทำ 5 ส่วน ได้แก่ เรื่องของดิน และสิ่งหนึ่งที่ อ.ยักษ์ อยากทำมากๆ และกำลังจะเกิดขึ้นจริง คือ งานวันดินโลกวันที่ 5 ธันวาคม โดยจะมีการเปิดงานในวันที่ 3 หรือ 6 ธันวาคม นี้อย่างแน่นอน

เรื่องต่อมาที่อยากทำ คือ การดูแลเรื่องนํ้า นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีมากกว่า 120 ล้านไร่ทั่วประเทศ “อ.ยักษ์” บอกว่า ต้องการนำสิ่งที่พระองค์ท่านสอน ไปทำนอกเขตชลประทาน ซึ่งตอนนี้ก้าวหน้าไปมาก ส่วนอื่นๆ ที่อยากทำ และได้รับผิดชอบ คือ หม่อนไหม เกษตรที่สูง และสำนักวิจัย รวมไปถึงกรมชลประทาน โดยงานทั้งหมดที่ “อ.ยักษ์” ได้ดำเนินการไว้ตลอดช่วง 20 ปีที่ออกจากราชการ ไม่ว่าจะเป็น “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ” หรืองานส่วนอื่นๆ ท่านก็ยังคงสานต่อไปพร้อมๆ กับงานของกระทรวงเกษตรฯ เพราะงานทั้งหมด คือ งานเดียวกัน

งานหนึ่งที่ “อ.ยักษ์” เคยร่วมมาตั้งแต่เริ่ม คือ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 6 โดยโครงการนี้ มีส่วนในการแก้ไขปัญหาดิน ปัญหานํ้า และปัญหาเกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในแผนงานของกระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว

26758200_321153641737790_3034732191671190645_o

“อ.ยักษ์” บอกว่า การร่วมงานกับเอกชนรายใหญ่อย่างเชฟรอนมีเงื่อนไขในการร่วมงานกัน คือ โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ  1. ต้องศึกษา ผู้บริหารระดับสูงของเชฟรอน ต้องมาเรียนรู้ว่าศาสตร์พระราชาคืออะไร 2. ต้องเอาพนักงานมาสร้างจิตอาสา หรืออาสาสมัคร แล้วมาทำงานกับชาวบ้าน ไม่ใช่แค่การเอาเงินมาให้ แล้วให้ชาวบ้านคอยรายงานการใช้เงินเอกชนที่มาร่วมงานต้องเอาทีมมาทำงาน และมาดูแลงบประมาณเอง และ 3. ต้องทำต่อเนื่อง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนนี้ พูดเองว่า การตั้งเงื่อนไขแบบนั้น ก็ดูเหมือนจะหยิ่งไปนิดหนึ่ง แต่นั่นคือสิ่ง ที่พูดกันตรงๆ ก่อนจะตัดสินใจร่วมงานกัน 1 เฟส จากที่ต้องทำ 3 เฟส เฟสละ 3 ปี รวม 9 ปี เราก็เริ่มจากเฟสที่ 1 โดยเลือกจากพื้นที่ที่ผมเลือกเอง เพราะพื้นที่ลุ่มป่าสัก เป็นลุ่มที่จัดการยากที่สุด ฝนตกเยอะ แต่เก็บนํ้าได้น้อย ก็จะล้นมาท่วมกรุงเทพฯ แต่มันมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งตอนนี้ ดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 เข้าสู่เฟส 2 ก็มาคุยกันต่อว่า มีจุดคอขวดอะไรที่จะทำให้เราช่วยชาวบ้านได้มากกว่าเดิมหรือเปล่า ช่วยกรมชลฯเก็บนํ้า ช่วยชาวบ้าน ช่วยงานราชการทั้งหมด ระดมเอาคนมาช่วยกัน เอาปัญหาคอขวดมาช่วยกัน ช่วยกันทุกฝ่าย

“สังคมไทยจะรอดได้ อยู่ที่พลังสามัคคี ครู พระ ข้าราชการ อย่าดื้อด้าน ภาคเอกชน อย่าไปคิดเอง ต่างคนต่างเก่ง และสื่อมวลชนก็อย่าไปคิดเอง ว่าตัวเองดี ...ต้องฟังด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา...ฟังแล้วมาสามัคคีกัน ปัญหาใหญ่แค่ไหนก็แก้ได้ ติดกฎหมายยังไงก็แก้ได้ ขอให้มีพลังสามัคคี ถ้าเราเชื่อว่าได้ ดวงจันทร์ยังไปได้”

นั่นคือสิ่งที่ “อ.ยักษ์” เน้นยํ้าความยากของการเข้ามาบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ “อ.ยักษ์” บอกว่า มันอยู่ที่ว่า คนพร้อมไหม เรามีครูที่จะฝึกวินัย เปลี่ยนมายด์เซ็ตคนได้ พากันลงมือทำได้จริงหรือเปล่า แดดเปรี้ยงขนาดไหนก็ไม่ท้อ ครูตี 4 ครึ่งก็มาสอนแล้ว ตอนนี้สิ่งที่กำลังดำเนินการ คือ การผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ เป็นศูนย์ต้นแบบ แต่เพียงแค่ศูนย์ฝึกอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ สำหรับการแก้ไขปัญหา โลกทุกวันนี้ มันต้องเป็น MOOC หรือ Massive Open Online Course คือ ต้องมีหลักสูตร (Course) ที่เรียนออนไลน์ (Online) จากระบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี (Open) และรองรับผู้เรียนจำนวนมาก (Massive) ผู้เรียนสามารถเชื่อมต่อเข้าไปดูวิดีโอการบรรยาย เข้าไปฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด หรือเข้าไปร่วมสนทนากับผู้เรียนอื่นๆ ได้ โดยทั้งหมดต้องทำไปด้วยกัน ทั้งสื่อ หนังการ์ตูน ละคร สื่อยุคใหม่

610300000810

“อ.ยักษ์” อธิบายว่า ตลอดเวลา 37-38 ปี ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง ดิน นํ้า พื้นที่เกษตรต่างๆ ตอนนี้ทุกอย่างเดินหน้าไปเรื่อยๆ จากความตั้งใจออกมาสร้างองค์กรที่จะเป็นตัวเชื่อม อย่างมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่จะเชื่อมต่อนิ้วทั้ง 5 คือ กฎหมาย วิชาการ พระ และครู ประชาชน และสื่อมวลชน รวมกันให้เป็นกำปั้น เชื่อมสังคมไทยทุกกลุ่ม ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับสั่งไว้ คือ เรื่องของ “เกษตรทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง” 2 เรื่องนี้ ที่ได้นำมาสอนในศูนย์เรียนรู้ และกำลังขยายการสอนไปให้กับ 10 กระทรวง โดยเลือก 20 พื้นที่ ที่จะใช้จิตอาสา 5 ล้านคน มาทำให้เกิดความสามัคคี

จากหน้าที่รับผิดชอบบริหารงานทั้ง 10 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ยึดมั่นการทำงานเพื่อประชาชน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักทั้งมิติสังคม ชาวบ้าน และภูมิศาสตร์

“อ.ยักษ์” บอกว่า มันคือความท้าทาย กับอาชีพการเป็นครูที่สอนด้านบริหาร ด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ หน้าที่ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี กำลังเดินหน้า ส่วนจะสำเร็จไปถึงจุดไหน สอบผ่านหรือไม่ นักบริหารตามศาสตร์พระราชาคนนี้ พร้อมให้ประชาชนตัดสิน

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859