เคาะเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าVOA21ปท.-ลดเกณฑ์สมาร์ทวีซ่าดึงนักลงทุน

06 พ.ย. 2561 | 10:49 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เคาะเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าVOA21ปท.-ลดเกณฑ์สมาร์ทวีซ่าดึงนักลงทุน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) (6พ.ย.61) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญคือยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้า มาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) หรือ VOA

put1

จากเดิมที่ให้มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็น “ให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการชั่วคราว โดยให้ใช้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561-เดือนมกราคม 2562 ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2562 หรือ จะมีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2561- 31 มกราคม 2562 รวม 60 วัน

ซึ่งเป็นแนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ครอบคลุม 21 ประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน อันดอร์รา มัลดีฟ บัลแกเรีย มอลต้า ภูฏาน มอริเชียส ปาปัวนิวกินี ไซปรัส โรมาเนีย เอธิโอเปีย ซานมาริโน ฟิจิ ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย คาซัคสถาน ยูเครน ลัตเวีย อุซเบกิสถาน และ ลิทัวเนีย

“ที่ผ่านมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติผู้โดยสารที่มาขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจ VOA พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทย และขอรับการตรวจลงตราลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 10% ครม.จึงมีมติให้ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30%”

ทั้งนี้ ตม.รายงานที่ประชุมครม.ว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติผู้โดยสารที่มาขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจ VOA พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและขอรับการตรวจลงตรามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ด่าน ตม.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดลงจากปี 2559 จำนวน 1,370,816 คน ด่านตม.ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ลดลง 585,665 คน ด่านตม.ท่าอากาศยานภูเก็ต ลดลง 217,587 คน ด่านตม.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ลดลง 97,734 คน ขณะที่ ด่านตม.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ เป็นเพียงด่านเดียวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,413 คน

090861-1927-9-335x503

“จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย การเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามา ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท แม้ว่าจะเป็นรายได้ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มลดลง ก็จะส่งผลให้รายได้ที่จัดเก็บ ลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะเดียวกันหากมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้น”

BOI ปรับเกณฑ์สมาร์ทวีซ่าดึงดูดนักลงทุน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังมีมติเห็นชอบปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอ เพื่อปรับปรุงให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูง ให้เข้ามาลงทุน มาทำงานหรือสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากภายหลังดำเนินการเปิดให้ขอสมาร์ทวิซ่า มาได้กว่า 8 เดือน มีผู้ขอข้อมูล 1,078 ครั้ง ยื่นขอ 37 ราย แต่ผ่านการรับรองเป็นผู้มีสิทธิได้ Smart Visa เพียง 28 รายเท่านั้น

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงจึงขอครม. เพิ่มเติมสาขาวิชาชีพที่สามารถขอ Smart Visa ได้อีก 3 สาขา ได้แก่ 1.การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ 3.การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน และขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ โดยให้สามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่ง ในการเข้าออกประเทศไทยได้

รวมทั้งมีการปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอ Smart Visa ดังนี้ 1.Smart-T สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) จากเดิม ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ขอวีซ่าประเภทนี้จะต้องมีเงินเดือนไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น จำแนกตามลักษณะการทำงาน คือ กลุ่มทั่วไป จะต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานใน Startup และผู้เชี่ยวชาญเกษียณอายุ ต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มาปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง และหน่วยงานของรัฐ ไม่กำหนดเงินได้ขั้นต่ำ และไม่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาจ้างด้วย จากเดิมที่จะต้องมีสัญญาจ้างนาน 1 ปีขึ้นไป ในกรณีของผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานให้หน่วยงานของรัฐ สามารถให้หน่วยงานของรัฐนั้นๆ เป็นผู้ให้การรับรองความเชี่ยวชาญและการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แทนการที่จะต้องรอขอการรับรองจากหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูงเพียงอย่างเดียว เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือ Smart Visa ได้มากขึ้น

voa

Smart-I สำหรับกลุ่มนักลงทุน (Investor) จากเดิม ที่กำหนดว่า จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตหรือให้บริการ เปลี่ยนเป็น ให้ได้ใน 2 กรณี คือ กรณีลงทุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาทในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน หรือกิจการร่วมลงทุนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ และกรณี ลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทในวิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจในโครงการบ่มเพาะ หรือ โครงการเร่งการเติบโต ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการลงทุนที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ในประเทศ

Smart-E สำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (Executive) จากเดิม กำหนดเงินเดือนไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น ให้มีเงินได้ เฉลี่ยขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาด SMEs ซึ่งอาจมีเงินเดือนไม่สูงนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนอย่างอื่นแทน เช่น สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ

Smart-S สำหรับผู้ประกอบการ Startup จากเดิม กำหนดว่า จะต้องมีหลักฐานทางการเงิน คือ มีเงินฝากในบัญชีฝากประจำระยะเวลาเหลือ 1 ปีขึ้นไป เปลี่ยนเป็น ให้มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย ประเทศที่ตนมีสัญชาติ หรือมีถิ่นพำนัก ขั้นต่ำ 600,000 บาท ซึ่งถือครองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณา
ส่วนเรื่องอายุของวีซ่า จากเดิม อนุมัติครั้งแรกให้ 1 ปี ขยายได้คราวละ 2 ปี โดยต้องตั้งกิจการในไทยภายใน 1 ปี เปลี่ยนเป็น แบ่งอายุวีซ่าออกเป็น 3 ระยะ คือ 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี สำหรับกรณีที่ ผู้ประกอบการได้จัดตั้ง Startup ที่เข้าหลักเกณฑ์แล้ว ก็ให้ได้รับ Smart Visa ที่มีอายุ 2 ปีได้ตั้งแต่ครั้งแรก

สถิติผู้โดยสารประเภท VOA
สุวรรณภูมิ / 2559 จำนวน 3.1 ล้านคน / 2560 จำนวน 2.2 ล้านคน / 2561 จำนวน 1.7 ล้านคน
ดอนเมือง / 2559 จำนวน 1.6 ล้านคน / 2560 จำนวน 1.1 ล้านคน / 2561 จำนวน 1.02 ล้านคน
ภูเก็ต / 2559 จำนวน 9.5 แสนคน / 2560 จำนวน 7.5 แสนคน / 2561จำนวน 7.3 แสนคน
หาดใหญ่ / 2559 จำนวน 1.9 พันคน / 2560 จำนวน 3.6 พันคน / 2561 จำนวน 3.3 พันคน
เชียงใหม่ / 2559 จำนวน 2.6 แสนคน / 2560 จำนวน 1.9 แสนคน / 2561 จำนวน 1.6 แสนคน

595959859