ขนส่งสินค้าแม่น้ำโขงคึกคัก มูลค่าการค้าพุ่งเฉียด 2 หมื่นล้าน

10 พ.ย. 2561 | 01:30 น.
ด่านศุลกากรเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปิดกล่องปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่าการค้ารวมเกือบ 2 หมื่น
ล้านบาท เผยเป็นการส่งออกสูงกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

lo02
ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานถึงสถานการณ์การค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) ว่า ด่านศุลกากรเชียงแสนซึ่งมีการค้าชายแดนกับ 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 19,162.65 ล้านบาท เป็นการนำเข้า 709.88 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าจากประเทศจีน 676.58 ล้านบาท นำเข้าจาก สปป.ลาว 32.50 ล้านบาท เป็นการส่งออก 18,452.77 ล้านบาท แยกเป็นส่งออกไป สปป.ลาว 10,293.58 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,816.18 ล้านบาท) ส่งออกไปเมียนมา 4,979.04 ล้านบาท  (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 649.67 ล้านบาท) และส่งออกไปประเทศจีน 3,180.15 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 546.67 ล้านบาท)

MP21-3416-A

ชนิดของสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกของปีงบประมาณ 2561 คือ อันดับที่ 1 นํ้ามันเชื้อเพลิง มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 3,016.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าส่งออกเพียง 1,715.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,300.65 ล้านบาท อันดับที่ 2 ยางพารา มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 2,812.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าส่งออกเพียง 1,688.06 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,124.93 ล้านบาท และอันดับที่ 3 ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง มูลค่าการส่งออก 2,589.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าส่งออกเพียง 1,852.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 737.30 ล้านบาท แตกต่างจากปีงบประมาณ 2560 ซึ่งสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันแรกคือ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง, นํ้ามันเชื้อเพลิง และยางพารา ตามลำดับ

พิจารณาจากตัวเลขของการส่งออกแล้ว จะเห็นได้ว่ามีอัตราการขยายตัวสูงมาก โดยเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนถึงกว่า 4,000 ล้านบาท แนวโน้มของการส่งออกในปีงบประมาณ 2562 เชื่อว่าน่าจะมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกันกับปีนี้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การที่ทางการจีนไฟเขียวให้สินค้าไทยซึ่งนำเข้าจีนที่ท่าเรือกวนเหล่ย เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สามารถส่งไปขายในมณฑลอื่นๆ ได้

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในชมรมพ่อค้าเชียงแสน เผยถึงสาเหตุการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสนมีการขยายตัวมากขึ้นว่า ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าโดยกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขงมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จากเดิมในช่วงแรกๆ ที่มีการเปิดให้มีการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่นํ้าโขง ประสบกับปัญหาเรื่องของระดับนํ้าจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ทั้งปี แต่ว่าปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว เนื่องจากเขื่อนจิ่งหงเขื่อนกั้นแม่นํ้าโขงเพื่อเก็บกักนํ้าของทางการจีน ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สามารถควบคุมรักษาระดับนํ้าในแม่นํ้าโขงให้อยู่ในระดับที่กองเรือพาณิชยนาวีสามารถเดินเรือขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งปี

ประกอบกับปีที่ผ่านมาทางการจีนได้ลงทุนไปกว่า 200 ล้านหยวน (ประมาณ 1,000 ล้านบาท) ทำการพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย ท่าเรือสุดท้ายของจีนในแม่นํ้าโขง ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นได้ รวมทั้งสร้างห้องเย็นเพื่อใช้เป็นคลังสินค้าใกล้กับท่าเรือด้วย ทำให้สินค้าที่ต้องการคงความสดไว้ตลอดเส้นทางการขนส่ง สามารถขนส่งโดยกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขงได้ จากนี้ไปจะเห็นสินค้าผลไม้สดจากไทยที่แต่เดิมเคยใช้การขนส่งด้วยรถยนต์ห้องเย็นวิ่งไปบนเส้นทาง R3a ไทย-ลาว-จีน เปลี่ยนมาใช้วิธีการขนส่งโดยกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขงมากขึ้น

“แนวโน้มการใช้ประโยชน์จากกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขง ยังเชื่อว่าน่าจะขยายตัวได้มากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายของรัฐบาลกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแม่นํ้าโขงตอนบน (ไทย-ลาว-เมียนมา-จีน) ก็สนับสนุนให้มีการใช้เส้นทางแม่นํ้าโขงเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกันอยู่แล้ว” แหล่งข่าวผู้ประกอบการในชมรมพ่อค้าเชียงแสนระบุ

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2561

[caption id="attachment_345166" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]