วัดใจ คสช. !! รวม "ทีโอที-กสท" ฝ่าแรงต้านช่วงรอยต่อเลือกตั้ง

08 พ.ย. 2561 | 03:37 น.
แม้จะเริ่มต้นนับหนึ่งควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีมติจัดทำแผนแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 หน่วยงานใหม่ พร้อมใช้ชื่อใหม่ ว่า "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ" จากเดิมที่ใช้ชื่อ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด


ย้อนรอย
แม้รัฐบาลมีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะควบรวมธุรกิจหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดต้นทุนซํ้าซ้อน แต่ดูเหมือนว่าไร้ผล เพราะเกิดกระแสแรงต้านจากบรรดาพนักงานของทั้ง 2 องค์กร ที่มีกว่า 3 หมื่นคน เหตุเพราะเกิดความกังวลและความมั่นคงในชีวิตการทำงาน

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนควบรวมธุรกิจ พร้อมจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติฯ หรือ NBN และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด หรือ NGDC

ในที่สุดรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องล้มแผนจัดตั้ง "NBN และ NGDC" ทำให้รัฐบาลต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่


นับหนึ่งควบรวม



MP20-3416-A

ถึงแม้จะ "ล้ม" แผนจัดตั้ง NBN และ NGDC แต่ทว่าที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ที่ประชุม คนร. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เห็นชอบให้ 'ทีโอที' และ "กสท โทรคมนาคม" ควบรวมธุรกิจ เพื่อพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากในอนาคตโลกจะมีการแข่งขันด้านโทรคมนาคมมากขึ้น ดังนั้น จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งกับตัวองค์กรและประเทศชาติ พร้อมกันนี้ให้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ด้วยว่า "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติฯ"


ไม่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทีโอทีมีความกังวลสิทธิคลื่นความถี่การถือครองใบอนุญาตสามารถโอนไปยังบริษัทใหม่ได้หรือไม่นั้น พร้อมกับทำหนังสือไปยัง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้

ในที่สุดวันประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อสิ้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า คณะกรรมการบอร์ด กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยว่า ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การควบรวมสามารถทำได้ตามนัยมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยคลื่นความถี่ที่ทั้ง 2 บริษัท ถืออยู่ จะยังคงอยู่ในบริษัทใหม่ที่ควบรวม ไม่ขัดต่อ ม.46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.)

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดว่า "ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาต จะโอนให้แก่กันมิได้" ดังนั้น กสทช. จะดำเนินการทำจดหมายตอบกลับไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ดีอี ตามที่สอบถามมาว่า สามารถควบรวมกันได้และคลื่นที่มีอยู่ก็จะตามไปอยู่กับบริษัทใหม่ที่ควบรวม คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด


สรท. ขอทบทวน
แม้ช่วงเวลานี้ คณะทำงานเตรียมการควบรวมของ 'ทีโอที' และ 'กสท' ภายใต้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่กำกับควบรวม กำลังดำเนินการไปตามมติ คนร. ซึ่งมีการประชุมไปแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อจัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการเสนอต่อ ครม. ในเดือน พ.ย. นี้

แต่ดูเหมือนว่า ไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลคิด เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ สรท. ต้องการทบทวนการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในช่วงเวลานี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า คณะทำงานเตรียมการรวมทั้ง 2 องค์กร กำลังอยู่ในช่วงของการเขียนแผนธุรกิจของบริษัทที่เกิดจากการควบรวม พร้อมทั้งออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อนำเสนอ ครม. ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2561 หลังจากมีความเห็นชอบยุบเลิกบริษัทเดิม จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562 ดังนั้น ทีโอทีสามารถรอโครงสร้างใหม่ แล้วค่อยปรับองค์กรในคราวเดียว น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า


หวั่นกระทบสายงาน ป.
นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธาน สรท กล่าวว่า การปรับโครงสร้างใหม่ในช่วงปลายปีงบประมาณ จะส่งผลกระทบต่อสายงาน ป. เดิม (สายงานปฏิบัติการขายและบริการลูกค้า) ต้องเร่งปิดการขายเพื่อสร้างยอดขายและรายได้ และผลการดำเนินงานเป็นไปตามตัวชี้วัด (KPI) ขององค์กรที่วางไว้ต้องชะลอออกไป เพื่อทุ่มเทกับการปรับโครงสร้างองค์กร เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา สายงาน ป. สามารถขับเคลื่อนและสร้างยอดขายให้เกินเป้าที่ได้วางไว้ เช่น ผลสำเร็จของโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้รับความชื่นชม


090861-1927-9-335x503

"แต่วันนี้ ทีโอทีกลับนำโครงสร้างธุรกิจที่ดีอยู่แล้วมาปรับปรุงใหม่ ทำให้เกิดการชะงักงันของงานขายและให้บริการของทีโอที ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่" นายพงศ์ฐิติ กล่าว


ยุบสำนักนครหลวง 4
นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างใหม่ คือ การยุบสำนักงานขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 ทิ้งไป ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา ผลประกอบการของสำนักงานขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 มีผลประกอบการที่ดี แต่กลับถูกยกเลิก ทำให้พนักงานขายของสายงานนี้แทนที่จะทุ่มเทการปฏิบัติงานกับการหารายได้และเพิ่มยอดขายก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2561 กลับต้องมากังวลกับโครงสร้างใหม่ โดยเฉพาะขวัญและกำลังใจของพนักงานหายไป

ไม่เพียงเท่านี้ ทีโอทียังคงมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งโครงสร้าง คือ การแบ่งรายได้ให้สะท้อนต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการของแต่ละ BU ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการขายและให้บริการแก่ผลิตภัณฑ์หลายตัว ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ ไม่ได้นำสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไข แต่กลับนำโครงสร้างที่ดีอยู่แล้วมาปรับใหม่ และไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นของการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

"สรท. อยากให้ทบทวนด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารลงโครงสร้างองค์กรใหม่ ชะลอการนำโครงสร้างองค์กรใหม่มาใช้งาน ให้ผู้บริหารระดับสูงในแต่ละสายงานเร่งหารายได้ และดำเนินการชี้วัดองค์กรก่อนสิ้นงบประมาณ 2561" นั่นคือ คำให้สัมภาษณ์ของ นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธาน สรท.

ปฏิบัติการเดินหน้าควบรวม "ทีโอทีและ กสท" เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว วัดใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำสำเร็จหรือไม่

เพราะห้วงเวลานี้เป็นช่วงรอยต่อที่รัฐบาลประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในเดือน ก.พ. 2562


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,416 ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว