"8 องค์กรหัวใจสีเขียว" สู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 7-20% ในปี 63

08 พ.ย. 2561 | 09:33 น.
ปัญหา "ภาวะโลกร้อน" ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล รวมถึงประเทศไทยที่ต้องประสบกับภาวะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและฝนตกนอกฤดูกาลอย่างมีนัยสำคัญ



Sustainable Policy

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคส่วนต่าง ๆ และยังเป็นสมาชิกรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต จึงได้พัฒนาโครงการ "ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย" (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยความสมัครใจ โดยสามารถนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ที่เรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" หรือ "TVERs" ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศได้

ล่าสุด อบก. ได้ร่วมกับกลุ่มมิตรผล จัดพิธีลงนามการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ 8 องค์กรหัวใจสีเขียว สอดรับเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7-20% ภายในปี 2563 และในระยะยาว 20-25% ภายในปี 2573

"ประเสริฐสุข จามรมาน" ผู้อำนวยการ อบก. กล่าวว่า อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต นอกจากนี้ การดำเนินโครงการยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-Benefit) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตร และอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เป็นต้น


m3

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้นกว่า 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 5 ประเภทโครงการ ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้วัตถุดิบด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้พัฒนาโครงการ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการขยายตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 6.2 ล้านบาท

กลุ่มมิตรผลนับเป็นหนึ่งในผู้นำประกอบการที่นำร่องและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายอื่น ๆ อบก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายในการ
ลดก๊าซเรือนกระจกตามที่วางไว้

"กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ขายคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า มิตรผลมุ่งมั่นในการพัฒนาต่อยอดคุณค่าจากอ้อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกกระบวนการผลิต ด้วยแนวคิด Value Creation เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า เอทานอล วัสดุทดแทนไม้ และ Bio-Based ซึ่งการดำเนินธุรกิจทั้งหมดล้วนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กลุ่มมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวม 489,217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งได้มาจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอเพาเวอร์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และยังคงเดินหน้าขยายการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีพันธมิตรที่ร่วมกันทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและแสดงพลังความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, บริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด (Wonderfruit), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งหมดจะร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573


MITR_PHOL_TH_SD Report 2016_03

การดำเนินงานโครงการ T-VER ของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 26 องค์กร ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน จำนวน 15 องค์กร ภาครัฐ จำนวน 9 องค์กร และรัฐวิสาหกิจ 2 องค์กร โดยมีการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 190,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ตามมาตรฐาน T-VER  ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ กลุ่มมิตรผลหวังว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ภาคประชาสังคมอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น

และหากในอนาคตผู้ประกอบการภาคธุรกิจ หรือ ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมใจกันซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ/กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้มีผู้พัฒนาโครงการหรือกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมากขึ้นด้วย อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น


หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,416 วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว