‘ดาวเทียม-เคเบิลทีวี’วิกฤติหนัก IPTV ไล่เบียดแชร์ เร่งปรับแผนหารายได้เพิ่ม

07 พ.ย. 2561 | 15:05 น.
ตลาดดาวเทียม-เคเบิลทีวีระอุ หลังถูก IPTV BOXไล่บี้เบียดแชร์ ผู้ประกอบการแห่ปิดกิจการกว่า 50% “เจริญ เคเบิลทีวี” เร่งปรับแผนส่งบริการอินเตอร์เน็ตตอบโจทย์ลูกค้า B2B ด้าน “ไอพีเอ็ม” วางเกมขยายแพลตฟอร์มสู่พรีเมียม เน้นโลคัลคอนเทนต์เจาะกลุ่มผู้ชม

 

นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญยิ่ง (8888) จำกัด ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี ภายใต้ชื่อ “เจริญเคเบิลทีวี” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแข่งขันรุนแรงและอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก จากเดิมธุรกิจทีวีดาวเทียมจะแข่งขันเพียงแค่กลุ่มทีวีดิจิตอล และกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่ม IPTV BOX ที่กำลังมาแรง โดยมีอัตราการเติบโตอย่างมาก และปัจจุบันมีสัดส่วนในตลาดกลุ่มทีวีกว่า 30% แล้วและในอนาคตจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ของตลาด ซึ่งการขยายตัวของกลุ่มผู้ชม IPTV BOX ที่มากขึ้นมาจากค่าบริการรายเดือนเฉลี่ย 300-400 บาทต่อเดือน แต่สามารถรับชมคอนเทนต์ได้ทั่วโลก

[caption id="attachment_343068" align="aligncenter" width="503"] วิชิต เอื้ออารีวรกุล วิชิต เอื้ออารีวรกุล[/caption]

อีกทั้งที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเฟซบุ๊กได้คว้าสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศไทยและไม่มีค่าบริการรายเดือนแต่จะรับรายได้โฆษณาแทน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ชมหันไปรับชมออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นจากการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นหรือทีวีดาวเทียมเผชิญปัญหาหนัก และมีผู้ประกอบการจำนวนมากทยอยปิดกิจการกว่า 50% ของตลาดหรือราวเกือบ 200 ราย จากในอดีตมีผู้เล่นในตลาดประมาณ 300 ราย

 

“ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อนทีวีดิจิตอลเกิด ตลาดทีวีดาวเทียมได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะการรับชมรูปแบบเพย์ทีวี อีกทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นของทีวีทุกประเภทส่วนใหญ่มาจากรายได้โฆษณา แต่ปัจจุบันโฆษณาต่างๆ หันไปเทงบประมาณกับทีวีดิจิตอลส่งผลให้ตลาดทีวีดาวเทียมต้องแข่งตัดราคาโฆษณา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาราคาค่าโฆษณาเฉลี่ยต่อนาทีอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นบาท แต่ในปัจจุบันลดลงมาเหลือแค่ 500 -2,000 บาทต่อนาที ส่งผลให้ผู้ประกอบการฝ่ายผลิตต้องแบกรับต้นทุนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1 ล้านบาทไม่สามารถอยู่ได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากทยอยปิดตัว”

Dual-core-iptv-box-with-andoid-4.jpg_350x350

ขณะที่ในด้านภาพรวมธุรกิจของเจริญเคเบิลทีวียังเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องมาจากที่ผ่านมาบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมเพิ่มเติม ซึ่งแผนธุรกิจในปีหน้าบริษัทวางแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ คือ ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตและเคเบิล C TV DIGITAL โดยจัดแพ็กเกจรายเดือน 499 บาทความเร็วเทียบเท่ากับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ปัจจุบันแต่ราคาถูกกว่า อีกทั้งยังมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่ม B2B มากขึ้น อาทิ คอนโดฯ โรงแรม และอพาร์ตเมนต์ เป็นต้น

 

“ผมมองว่าแม้ปัจจุบันพฤติกรรมผู้ชมจะหันไปให้ความสนใจกับสื่อออนไลน์ แต่ทุกบ้านยังมีทีวีอยู่ และกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์จะให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพคอนเทนต์ และความคมชัดระดับ HD ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทพยายามตอบโจทย์เรื่องคอนเทนต์และคุณภาพช่องระดับ HD และ 4K ตอบโจทย์ผู้บริโภค ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เข้าไปซื้อกิจการผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กที่ผ่านมากว่า 20-30 รายเพื่อหวังขยายฐานผู้ชม จากปี 2558 มีฐานผู้ชมอยู่ที่ 6 แสนครัวเรือนซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีฐานผู้ชมอยู่ที่ 1 ล้านราย”

นายมานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด

ด้านนายมานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมมีผู้ประกอบการ 3 ประเภท คือ 1. ผู้ประกอบการผลิตช่องรายการ 2.เจ้าของแพลตฟอร์มและเป็นผู้ประกอบการผลิตช่องรายการ 3.ผู้ประกอบการผลิตกล่องทีวีดาวเทียมเพื่อจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มการผลิตช่องอย่างเดียวได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดที่สุดเนื่องจากขาดสภาพคล่องด้านเงินทุน

ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตช่องมีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันจากอัตราค่าโฆษณาผ่านทีวีดาวเทียมมีราคาลดลง ประกอบกับกฎหมายที่เข้ามาควบคุมมากขึ้น เช่น อย.ที่เข้ามากำกับควบคุมสินค้าผลิตภัณฑ์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มนี้ทำงานยากขึ้น จึงทำให้ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ผลิตช่องทีวีดาวเทียมอย่างเดียวทยอยปิดตัวช่องไปกว่า 100 ช่อง

1175097_508142565936973_792828177_n

ขณะที่ในด้านธุรกิจของไอพีเอ็มยังเติบโตอย่างดี ซึ่งบริษัทคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้เติบโตกว่า 50% ซึ่งสาเหตุการเติบโตมาจากการที่บริษัทขยายฐานผู้ชม ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีฐานลูกค้าใหม่เติบโตขึ้นกว่า 5 เท่าตัว หรือสิ้นปีนี้คาดกว่าจะมีฐานผู้ชมอยู่ที่ 6 ล้านครัวเรือน อีกทั้งบริษัทได้วางแผนกลยุทธ์เพิ่มรายได้โดยการกระตุ้นการจ่ายของผู้ชมปัจจุบันให้มากขึ้น จากเดิมที่รับชมในรูปแบบฟรีทีวีหรือสแตนดาร์ด แต่ต่อไปจะกระตุ้นการใช้จ่ายไปสู่รูปแบบพรีเมียมมากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายการรับชมรายเดือนประมาณ 50-250 บาทต่อครัวเรือน

 

090861-1927-9-335x503

“บริษัทได้วางงบคอนเทนต์และพัฒนาแพลตฟอร์มเฉลี่ยต่อปีราว 500 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมต่อผู้ชมของไอพีเอ็มส่วนใหญ่คือคอนเทนต์โลคัล หรือด้านวิชาชีพเฉพาะกลุ่ม อาทิ ช่องเกษตร ช่องช่างซ่อมต่างๆ ช่องความสวยความงาม อื่นๆ เนื่องจากฐานผู้ชมส่วนใหญ่กว่า 80% เป็น กลุ่มผู้ชมต่างจังหวัด ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีเพียง 20% ขณะเดียวกันผู้ชมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ดังนั้นในปีนี้และปีหน้าบริษัทจะเน้นการตลาด และการผลิตให้ตอบโจทย์กลุ่มคนดังกล่าวให้มากขึ้น”

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3416 ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว