"อธิบดี ทย." คนใหม่เดินหน้า! ยกระดับสนามบินภูมิภาคสู่สากล

09 พ.ย. 2561 | 06:34 น.
การบริหารจัดการสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) วันนี้ ภายใต้การกุมบังเหียนของอธิบดีคนใหม่ จะมีทิศทางอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

 

[caption id="attachment_343060" align="aligncenter" width="353"] อัมพวัน วรรณโก อัมพวัน วรรณโก[/caption]

ยกมาตรฐานสนามบิน
แม้เราจะเป็นสนามบินของราชการ แต่จะต้องให้ความสำคัญเรื่องของมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของใบรับรองสนามบินสาธารณะและใบรับรองผู้จัดการสนามบินสาธารณะ

ทย. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อให้ทาง กพท. ทำการตรวจสนามบินของทุกแห่งของ ทย. เพื่อทยอยออกใบรับรองสนามบินสาธารณะ รวมไปถึงใบรับรองผู้จัดการสนามบินสาธารณะ การจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001 รวมถึงการจัดทำประกันภัยท่าอากาศยาน


พัฒนาคนรับเมืองรอง
เป้าหมายหลักที่เป็นนโยบาย คือ เราจะต้องพัฒนาทั้งเรื่องของ Hardside คือ การพัฒนาอาคารรันเวย์ในสนามบิน และ Softside คือ การพัฒนาบุคลากร ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ที่ต้องมาดูเรื่องของมาตรฐานของบุคลากรที่เป็นราชการ ลูกจ้าง ให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เน้นการให้ความรู้ เทรนนิ่งเป็นสำคัญ รวมไปถึงดูด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง สนามบินของ ทย. ที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็ต้องพร้อมสำหรับรองรับด้วยเช่นกัน และสนามบินของ ทย. ก็จะช่วยในเรื่องของการแบ่งเบาภาระจากท่าอากาศยานหลักในเมืองท่องเที่ยวหลักด้วย ทย. จึงมองเรื่องการนำเทคโนโลยีเรื่องของ Big Data มาใช้ เช่น การเช็กอินด้วยระบบการจดจำใบหน้า การพัฒนาระบบและอุปกรณ์การให้บริการต่าง ๆ ในสนามบินให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น


mp22-3416-a

ขยายสนามบินนครศรี-ตรัง
สำหรับการพัฒนาในส่วนของ Hardside จะเห็นว่า ทย. มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยตามแผนลงทุนในช่วง 20 ปี ทย. ได้ทำแผนการพัฒนาสนามบินต่าง ๆ ที่จะต้องขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล รวม 3 หมื่นกว่าล้านบาท โดยปัจจุบัน มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการโดยงบประมาณปี 2562 ที่อยู่ในการพัฒนา ซึ่งเป็นงบผูกพันช่วงปี 2562-2564 รวม 3 พันล้านบาท

ประกอบไปด้วย โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ "ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช" ภายใต้งบประมาณจากรัฐ 1,800 ล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารได้จากเดิม 450 คนต่อชั่วโมง หรือราว 1.29 ล้านเที่ยวบินต่อปี เพิ่มเป็น 1,600 คนต่อชั่วโมง หรือราว 4 ล้านคนต่อปี โดยจะใช้งบประมาณปี 2562 จำนวน 360 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 720 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 720 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ "ท่าอากาศยานตรัง" ใช้งบรวม 1,200 ล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 600 คนต่อชั่วโมง ราว 1.70 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 1,200 คนต่อชั่วโมง ราว 3.4 ล้านคนต่อปี โดยใช้งบปี 2562 จำนวน 240 ล้านบาท ปี 2563 วงเงิน 480 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 480 ล้านบาท และโครงการระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self-Service) "ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี"


ชงงบปี 63 ร่วม 2.49 พันล.
ส่วนโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างทำแผนของบประมาณปี 2563 ซึ่งจะขอเป็นงบผูกพันช่วงปี 2563-2565 วงเงินราว 2.49 พันล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน "ท่าอากาศยานกระบี่" วงเงิน 1,200 ล้านบาท โดยใช้งบปี 2563 วงเงิน 240 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 480 ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 480 ล้านบาท โครงการก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน "ท่าอากาศยานขอนแก่น" วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 737 ได้ จากเดิม 5 ลำในเวลาเดียวกัน เป็น 11 ลำในเวลาเดียวกัน

โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ "ท่าอากาศยานเลย" วงเงินรวม 600 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้จากเดิม 300 คนต่อชั่วโมง ราว 8.6 แสนคนต่อปี เป็น 600 คนต่อชั่วโมง ราว 1.70 ล้านคนต่อปี โครงการจ้างออกแบบอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ "ท่าอากาศยานบุรีรัมย์" วงเงินงบประมาณปี 2563 รวม 12.5 ล้านบาท เพื่อออกแบบอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ให้รองรับผู้โดยสารได้ 600 คนต่อชั่วโมงราว 1.7 ล้านคนต่อปี

โครงการปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน พร้อมระบบนำจอด "ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี" วงเงิน 180 ล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 คนต่อชั่วโมงราว 2.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1,400 คนต่อชั่วโมงราว 3.5 ล้านคนต่อปี วงเงินปี 2563 ราว 36 ล้านบาท ปี 2564 ราว 144 ล้านบาท โครงการก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน "ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี" วงเงิน 500 ล้านบาท ให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 737 จากเดิม 5 ลำ เป็น 8 ลำในเวลาเดียวกัน โดยของบปี 2563 จำนวน 100 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 200 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 200 ล้านบาท


ทยอยเปิดสัมปทานพื้นที่รีเทล
ไม่เพียงแต่การพัฒนาสนามบินเท่านั้น ทย. ยังต้องมองถึงการหารายได้เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินด้วย เพื่อทำให้สนามบินมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ได้มีการจ้างทางจุฬาลงกรณ์ศึกษาเรื่องกระบวนการการเช่าพื้นที่ การปรับค่าเช่าพื้นที่ให้มีความเหมาะสม และการคัดเลือกเอกชน เพื่อต่อไปจะมีการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินต่าง ๆ ให้เอกชนเข้ามาเปิดร้านค้าต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในการเปิดประมูลที่จะเกิดขึ้น จะเริ่มจากสนามบินแม่สอดเป็นแห่งแรก เนื่องจากอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพิ่งเปิดให้บริการ ซึ่ง ทย. จะให้นํ้าหนักพื้นที่ โดยเน้นกระจายได้สู่ท้องถิ่น ดังนั้น ในแต่ละสนามบิน ทย. จะเน้นจัดสรรพื้นที่ให้วิสาหกิจชุมชนผู้ประกอบการท้องถิ่น คิดเป็นสัดส่วน 30% ส่วนอีก 70% จะเป็นพื้นที่ของภาคเอกชน ที่เป็นร้านค้าชื่อดังต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ

ขณะที่ แผนการโอน 4 สนามบินของ ทย. ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก ให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ในอีกไม่นานนี้

ทั้งหมดเป็นทิศทางและการขับเคลื่อนการทำงานของ ทย. ที่จะเกิดขึ้น


สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3416 ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว