Management Tools : น้อยด้วยราคา แต่มากด้วยคุณค่า

05 พ.ย. 2561 | 12:01 น.
 

 

น้อยแต่มาก-2 นาฬิกาข้อมือที่ใช้บอกเวลาเหมือนกัน เรือนหนึ่งอาจราคาถึง 10-20 ล้านบาท แต่อีกเรือนหนึ่งอาจราคาแค่ 2 พันบาท กลับบอกเวลาเที่ยงตรง แทบไม่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับเสื้อผ้า เสื้อแบรนด์เนมบางยี่ห้ออาจราคาหลายหมื่นบาท ในขณะที่ไม่ได้สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกายแตกต่างไปจากเสื้อตัวละไม่กี่ร้อยบาท

สำหรับนาฬิกา 10 ล้าน 20 ล้าน คือ ราคา (Price/Cost) ส่วนการบอกเวลาได้เที่ยงตรงคือ คุณค่า (Value) และหลายหมื่น คือ “ราคา” ส่วนการช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย คือ “คุณค่า”  ของเสื้อตัวนั้นๆ

คนทั่วไปมักจะคิดว่า ราคา กับคุณค่านั้นต้องควบคู่กันไป เมื่อใดที่ราคาน้อย คุณค่าย่อมน้อยตามไปด้วย เช่น ในเรื่องนาฬิกา นอกเหนือจากคุณค่าในเรื่องการบอกเวลาแล้ว ยังมีคนให้คุณค่ากับความมีหน้ามีตา การแสดงถึงการเป็นคนมีฐานะในสังคม เพราะหากไม่มีสิ่งนี้ คงไม่มีใครซื้อนาฬิกาเรือนละ 10 ล้านบาทมาใส่ หรือถึงไม่มีก็ไปยืมเพื่อนมาใส่จนเป็นเรื่องเป็นราวแน่

แปลว่านอกจากคุณค่าที่ได้ในเชิงอรรถประโยชน์ของสิ่งนั้นแล้ว ยังต้องมองคุณค่าที่เกิดขึ้นทางใจด้วย เช่น ใส่สบายใจ ใส่แล้วมีความมั่นใจมากขึ้น

การใส่เสื้อแบรนด์เนม ซื้อกระเป๋ายี่ห้อดัง ขับรถแพงๆ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันนี้

แต่ในเชิงการบริหาร มีตัวแบบหนึ่งที่ผลักดันให้เราหาคำตอบถึงสิ่งที่เรียกว่า “น้อยด้วยราคา แต่มากด้วยคุณค่า” เรียกว่าตัวแบบของขวัญ (The Gift Model) โดยมองว่า หากลงทุนด้วยราคาเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณค่านั้นใครๆ ก็ทำได้ แต่นักบริหารที่เก่งต้องรู้จักแสวงหา “ของขวัญ” ที่น้อยด้วยราคาหรือลงทุนแต่น้อย แต่กลับได้คุณค่า หรือสร้างผลลัพธ์ที่เกิดได้อย่างมากมาย สิ่งนี้ต่างหากที่แยกแยะความแตกต่างระหว่างนักบริหารที่สามารถ กับนักบริหารที่ได้มาโดยตำแหน่ง

ตัวแบบของขวัญมิได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่สร้าง Matrix 2 แกน แกนหนึ่งคือคุณค่า แกนหนึ่งคือราคาหรือต้นทุนที่ใช้                                  กราฟิกบทความ อ.สมชัย

นักบริหารที่ไม่ใส่ใจอะไร มักจะคิดเพียงแค่การประหยัด บริหารงบประมาณแบบใช้จ่ายให้น้อย ไม่ยอมลงทุนอะไรเพิ่ม เข้าทำนองก็มีงบแค่นี้จะให้ทำอะไรให้มาก จึงเลือกตัวเองอยู่ในกลุ่ม D คือไม่ใช้จ่ายหรือจ่ายน้อยและพอใจกับผลที่ไม่ค่อยได้รับอะไรในเชิงคุณค่านัก เช่น มีงบโฆษณาน้อยก็ไปลงตามสื่อที่ไม่มีคนสนใจ อย่างนี้ใครจะรู้จัก เงินที่ลงไปแม้จะน้อย ก็ไม่มีประโยชน์อันใด

นักบริหารกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม C เข้าสไตล์คุณหนู คือ มีเงิน มีสตางค์แต่มักจะใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สร้างคุณค่าเท่าใดนัก เป็นนักบริหารที่โชคดี คือ อยู่ในองค์กรมีขีดความสามารถในการจ่ายในการลงทุน ไม่ติดขัดในเรื่องงบประมาณ แต่การคิดการตัดสินใจกลับไม่สามารถสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่องค์กรได้มากมายนัก

เราเคยเห็นหน่วยราชการจำนวนมากที่ลงทุนเห่อไปกับเทคโนโลยี ลงทุนกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นหลัก 10 ล้าน 100 ล้านบาท แต่ก็เอามาตั้งให้ฝุ่นเกาะ พอเสื่อมสภาพก็จำหน่ายทิ้ง โดยถือคติเงินหลวงไม่ใช่เงินเรา หน่วยงานใดหรือประเทศใดมีผู้บริหารแบบนี้มากๆ คงถึงทีล่มจม เหมือนลงทุนซื้อ “ของขวัญ” ราคาแพง แต่ไม่สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้รับ

กลุ่มที่ 3 หรือ กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่เป็นไปตามกฎแห่งการลงทุน  คือลงทุนมากจ่ายมาก ก็ย่อมได้รับคุณค่าหรือผลตอบแทนสูงเป็นธรรมดา เหมือนยอมจ่าย 3 หมื่นเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นท็อป ก็ย่อมได้ฟีเจอร์หรือฟังก์ชันการใช้งานได้หลากหลาย ได้ของดีมีคุณภาพมากกว่าโทรศัพท์ราคาไม่ถึงพันบาท

อย่างไรก็ตามในฐานะนักบริหาร เราจะยังไม่ให้ความสนใจแก่ “ของขวัญ” ในลักษณะนี้มากนัก เพราะยังไม่สะท้อนถึงฝีมือในการบริหาร เหมือนกับประโยคว่า ขอให้มีเงินก็ทำได้
328 กลุ่มสุดท้าย หรือกลุ่ม A เป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด เพราะอยู่ภายใต้กฎของความมหัศจรรย์ ลงทุนน้อย จ่ายน้อย แต่ได้รับคุณค่ากลับมามาก เป็นของขวัญที่ “ถูกแต่มากด้วยคุณค่า” เหมือนเราได้การ์ดวันเกิดสักแผ่นที่อาจจะราคาวัสดุเพียงไม่กี่สิบบาท แต่มาจากความตั้งใจในการประดิษฐ์ การกลั่นกรองภาษาในการเขียนถ้อยคำ และนำมาส่งให้กับมือ ดูเหมือนจะสร้างคุณค่าทางใจให้แก่ผู้รับมากกว่าของขวัญราคาแพงที่คนให้มาแบบเป็นพิธีกรรม

ผมเคยเห็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐท่านหนึ่ง ที่ยอมเสียเวลาเซ็น ส.ค.ส.ให้แก่บุคลากรในหน่วยงาน ที่มีมากกว่า 2 พันคน ด้วยลายมือของตนเอง พร้อมเขียนข้อความทักทายเล็กๆ น้อยในการ์ดปีใหม่ โดยไม่ยอมใช้ตรายางประทับ กลับสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับมากกว่าอีกปีหนึ่งที่อธิการอีกท่านส่งปากกาแบบทำทีเยอะๆ แจกคนทั้งมหาวิทยาลัย

นักประชาสัมพันธ์บางคน แทบไม่ใช้เงิน แต่สามารถสร้างข่าวเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ นักวิชาการบางคนแค่ให้สัมภาษณ์ไม่กี่ประโยคก็สร้างผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อสังคมได้ คนบางคนที่สามารถจับอารมณ์ของสังคมได้แค่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กก็เป็นข่าวลงหน้าหนึ่ง นักการเมืองบางคนสามารถหาเสียงได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยเพียงแค่ทำตัวเสมอต้นเสมอปลายในการเข้ากับชาวบ้านเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นล้านๆ ในการหาเสียง

ความเอาใจใส่ การทำตัวสมํ่าเสมอ การทำตนเป็นที่รักใคร่ของผู้คน ความเป็นกัลยาณมิตร การให้ข้อเสนอแนะเพื่อการทำงานที่ดีขึ้น การลงไปคลุกคลียอมเหน็ดเหนื่อยกับผู้ใต้บังคับบัญชา ความไวในการจับอารมณ์ความรู้สึกของคนในหน่วยงาน เหล่านี้ถือเป็น “ของขวัญ” ที่ราคาถูกแต่กลับมีสิ่งตอบแทนที่มากคุณค่า

ใครรู้จักใช้ของขวัญชิ้นนี้ คือนักบริหารผู้สามารถอย่างแท้จริง

|คอลัมน์ : Management Tools 
| โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3415 ระหว่างวันที่ 4-7 พ.ย.2561
595959859