เตือน! ห้ามดื่ม 'เหล้า' แก้หนาว

04 พ.ย. 2561 | 09:55 น.
สพฉ. เตือนประชาชนห้ามก๊งเหล้าแก้หนาว ระบุ ไม่ได้ทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ แนะประชาชนที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรมอัมพฤกษ์อัมพาต เตรียมยาให้พร้อม ดูแลสุขภาพและรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา



thumbnail_ห้ามกินเหล้าหน้าหนาว

สืบเนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่อากาศหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ออกวิธีปฏิบัติตนสำหรับประชาชนในการรับมือกับอากาศหนาว โดยเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนที่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ คือ ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งอากาศที่หนาวเย็นมาก ๆ จะทำให้ผู้ป่วยด้วย 3 โรคดังกล่าว ได้รับผลกระทบ เพราะความหนาวเย็นจะส่งผลให้ประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติด้วย เมื่ออากาศหนาวเย็นมาก ๆ ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น จนส่งผลต่อความดันโลหิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคอาการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและดูแลสุขภาพตนเอง รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโรคที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าหนาวบ่อยมากที่สุด คือ โรคปอดบวม โดยกลุ่มประชาชนที่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษไม่ให้ป่วยเป็นโรคดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน จนถึง 2 ขวบ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด หากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวนี้มีอาการไข้ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก และมีอาการหอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า มีอาการปอดบวมที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้


ห้ามกินเหล้าแก้หนาว2

สิ่งที่เตือนกันทุก ๆ ปี เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว คือ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้ความหนาวเย็นเด็ดขาด เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ยังมีความเชื่อว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะทำให้ร่างกายอบอุ่นและแก้อากาศหนาวเย็นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ที่สำคัญ แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ผู้ดื่มจะรู้สึกว่าตัวร้อนขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าร่างกายของตัวเองอบอุ่น แต่ในความเป็นจริง คือ เส้นเลือดฝอยกำลังขยายตัวอย่างหนักนั่นเอง และจะเป็นช่องทางให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกได้ง่ายขึ้น เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไหร่ ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นไปด้วย และจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ เมื่อเราหลับและร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานาน จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

"และสำหรับขั้นตอนการดูแลตนเองของประชาชนในช่วงที่อากาศหนาวเย็นนี้ ประชาชนควรดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เตรียมเสื้อกันหนาวมาสวมใส่เพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ทั้งนี้ หากเป็นหวัด ถ้าจะออกนอกบ้านให้สวมผ้าปิดปากป้องกันการติดเชื้อสู่คนรอบข้าง และหากร่างกายเปียกน้ำให้รีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันภาวะปอดบวมด้วย" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว