"บิ๊กตู่" ปลุกสร้างฝายได้ "ชีวาธิปไตย"

04 พ.ย. 2561 | 09:39 น.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการพัฒนาฝายมีชีวิต ว่า ได้หารือในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) เรื่อง "การสร้างฝายมีชีวิต" โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า ฝายมีชีวิตเป็นการสร้างโดยชุมชน รัฐสนับสนุนงบไม่มาก รูปแบบเป็นการสร้างฝายแบบวางกระสอบดินทรายจากพื้นน้ำขึ้นมา และมีขั้นบันไดลาดลง 2 ฝั่ง ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ปลาสามารถว่ายทวนขึ้นไปกระจายพันธุ์ได้ และมีความแข็งแรงจากรูปทรงลักษณะหูช้างของ 2 ริมฝั่งฝาย เสริมด้วยการปลูกต้นไทรไว้ 2 ข้าง รวม 4 ข้าง (2 ฝั่ง) รากไทรจะช่วยยึดฝายให้มั่นคง และสร้างความชุ่มชื้น ซึ่งระยะต่อไปจะเกิดต้นไม้หนาแน่นขึ้น เกิดแอ่งน้ำให้ชุมชนและมีน้ำอุดมสมบูรณ์แม้ในหน้าแล้ง ลดความรุนแรงของน้ำในหน้าฝน ปัจจุบัน มีฝายกระจายอยู่ 815 แห่ง นอกจากนี้ เรายังพบว่า มีอุปสรรคในการสร้างฝาย คือ การขออนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในเขตอนุรักษ์ป่าไม้

20180926054008

ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายสร้างฝายมีชีวิตทั่วประเทศ 60,000 ฝาย ในระยะ 5 ปี โดยในปี 2562 จะสร้างเพิ่มขึ้น 6,000 ฝาย โดยมีต้นทุนต่อฝายเพียง 50,000 บาท ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาให้หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าร่วมดำเนินการ เพื่อลดอุปสรรคด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีการระบุพิกัดสร้างฝายชัดเจนขึ้น และระดมทุนจากภาคเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย

ในเรื่องฝายมีชีวิตนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 2 พ.ย. 2561 ตอนหนึ่งว่า การสร้าง "ฝายมีชีวิต" ที่เป็นการผสมผสาน "หลักการทรงงาน" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น การมีส่วนร่วม การระเบิดจากภายใน การปลูกป่าในใจคน การให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึง "ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม" เป็นต้น โดย "ฝายมีชีวิต" เป็นกลไกบรรเทาความรุนแรงน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และยังเป็นการเติมน้ำใต้ดิน หรือ "ชลประทานใต้ดิน" ด้วยกลไกทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่โดยรอบตัวฝายมีความชุ่มชื้น

นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของฝายมีชีวิตยังมีอีกมาก เช่น ประปาหมู่บ้านตลอดปี ซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน นอกจากนี้ กระบวนการสร้างฝายมีชีวิตที่เน้นการมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรักษา รวมพลัง แบบจิตอาสา รวมทั้งยังมีข้อกำหนดเพื่อดูแลรักษาฝายร่วมกัน เรียกว่า ธรรมนูญฝายมีชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองอีกด้วย

สำหรับกระบวนการสร้างเครือข่ายฝายมีชีวิต รัฐบาลเห็นความสำคัญในการสร้างฝายมีชีวิตตามความเหมาะสมของแต่ละลุ่มน้ำ โดยตั้งเป้าหมายสร้างฝาย 60,000 แห่ง ในระยะ 5 ปี ทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศ โดยเน้นการระเบิดจากภายในของแต่ละลุ่มน้ำ แล้วภาครัฐจะสนับสนุนการวิจัย การสร้างครูฝาย ไปจนถึงการสร้างฝายอย่างเป็นระบบ หากทุกคนร่วมกันสร้างฝายมีชีวิตให้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่โดยรอบ ๆ ฝาย ก็จะได้รับผลประโยชน์จากความชุ่มชื้น เกิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน เกิดชีวาธิปไตย หรือ ประชาธิปไตยที่มีชีวิต

595959859