"ครูหยุย" ชี้! สื่อออนไลน์หลุมพรางอาชญากรรมลูกโซ่

04 พ.ย. 2561 | 09:43 น.
คณะกรรมาธิการสังคมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา "บทเรียนจากบอลโลกสู่การพัฒนากลไกป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในระยะยาว" ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับ 11 หน่วยงาน ที่ร่วมขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อปัญหาการพนันในช่วงบอลโลกด้วย

IMG_7305

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์พนันในเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กอายุเพียง 6 ปี ก็เข้าสู่การเล่นพนันแล้ว ยิ่งปัจจุบัน เด็กและเยาวชนเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี จึงทำให้เข้าถึงการพนันได้ง่าย จากการติดตามสถานการณ์พนันทายผลฟุตบอลโลกครั้งนี้ พบว่า การพนันออนไลน์รุกเข้าสู่เด็กมากขึ้น การดำเนินการต่าง ๆ ไม่เพียงพอจะยับยั้งการเล่นพนันของเด็ก สื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์เชิญชวนและชักจูงเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ชอบทำกิจกรรมเสี่ยง เข้าสู่วงจรการพนัน และเกิดการสะสมหนี้ผ่านการพนันออนไลน์อย่างรวดเร็ว


stadium-931975_1920

"ขอชื่นชมความร่วมมือในการทำงานของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ที่ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการป้องกันเด็กเยาวชนจากพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก เพื่อให้เกิดความตระหนักและป้องปรามการพนันให้เกิดขึ้น ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ทั่วประเทศ จนทำให้มีการขยายความร่วมมือจาก 11 เป็น 28 หน่วยงาน เราจำเป็นต้องใช้กระบวนการพัฒนาชุมชน องค์กรชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเด็กและเยาวชน เป็นกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับทั่วประเทศ 8,780 แห่ง ควรมีส่วนร่วมในการคิดวางแผน ลงมือปฎิบัติ และประเมินผล โดยได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากชุมชนและส่วนกลาง เนื่องจากการพนันออนไลน์ส่งผลให้เด็กเยาวชนต้องก่ออาชญากรรม เช่น ปล้นชิงทรัพย์ ทำร้ายคนใกล้ชิด หนี้สิน ขายบริการทางเพศ ฆ่าตัวตาย และค้ายาเสพติด"


IMG_7313 (1)

ด้าน ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กฎหมายนี้มีอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปมีบทบาทในการคุ้มครอง ดูแล เยียวยา และพัฒนาเด็ก ร่วมกันกับสหวิชาชีพ แต่กระนั้นก็ดี  20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาพนันออนไลน์รุนแรงขึ้นมาก เด็กเยาวชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นปัญหาในระดับโลกไปแล้ว

"ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ หรือ กดยช. ทำงานร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ และเครือข่ายภาคประชาสังคมดูแลเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้ขยับไปครอบคลุมอี-สปอร์ตด้วย โดยเน้นการบูรณาการทำงานด้วยกันทุกฝ่าย เพื่อให้ครอบคลุมพนันออนไลน์ทั้งระบบ ขณะนี้ ยูนิเซฟได้เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ และเร็ว ๆ นี้ สภาเด็กจะมีกิจกรรม "สภาเด็กพบลุงตู่" ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเปิดเวทีให้เด็กได้สื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวด้วย" ดร.สมคิด ระบุ


19-06-61-01

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานประสานความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 กล่าวว่า หลังจากมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน 11 หน่วยงาน ได้ไปทำงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหน่วยงานปราบปราม การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสร้างกระแสความสนใจได้มาก ขณะที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้สนับสนุนการผลิตสื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เท่าทันการพนัน อย่างไรก็ตาม มิติที่ยังอ่อน คือ ด้านการป้องกันและเยียวยา ที่ช่องทางการให้คำปรึกษามีเพียงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ที่รับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตหลายเรื่อง ไม่เจาะจงเฉพาะคนติดพนัน ขณะเดียวกันก็ยังมีจุดบอดในการเข้ามาร่วมดูแลขององค์กรสื่อมวลชน เพราะสื่อถือเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลต่อสังคม สามารถเผยแพร่ข้อมูลทางสาธารณะและรณรงค์ได้ในวงกว้าง

"รัฐบาลควรมีมาตรการทำงานเชิงรุก มีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่จะไม่ทำให้การพนันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย และต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อลดผลกระทบการพนัน ดูแลในทุกมิติ ทั้งป้องกัน ปราบปราม เยียวยา คุ้มครอง แก้ไข เป็นกลไกถาวร มียุทธศาสตร์การกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องมีกองทุนลดผลกระทบการพนัน ที่มีอิสระ มีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรเงิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติ" ดร.ธีรารัตน์ กล่าว


56262656

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงฟุตบอลโลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานป้องกันการพนันในระยะยาว แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกมาก เช่น จากการเฝ้าระวังหลังบอลโลก Web พนันออนไลน์ ก็กลับมาเยอะกว่าช่วงบอลโลก ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ก็วางเรื่องป้องปรามพนันไปทำเรื่องอื่น ทำให้งานป้องกันพนันออนไลน์เป็นเพียงงานตามวาระ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และที่สำคัญ ในการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ไม่อยากให้รัฐบาลยุบเลิกกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกสนับสนุนการป้องกันการพนันได้เป็นอย่างดี

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว