ทางออกนอกตำรา : ขาใหญ่ไทย-เทศรุมสกรัม คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีแสนล้าน

03 พ.ย. 2561 | 13:33 น.
ขาใหญ่-2 _104066760_00749270-4070-43c0-b15e-8250e1db700f คติพจน์โบราณว่าไว้ให้ขบคิด....“การเป็นแชมป์ว่ายากแล้วการจะรักษาแชมป์ไว้ต่อไปถือว่ายากกว่า”...คำกล่าวดังว่า กำลังเป็นจริงในอาณาจักรธุรกิจดิวตี้ฟรีเมืองไทย 113,000 ล้านบาท ที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ของ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา”ผู้เสียชีวิตไปจากโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตกที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ครอบครองอยู่แต่เพียงรายเดียวในประเทศกูมีแห่งนี้

ในห้วง 30 ปี ที่ คุณวิชัย สร้างธุรกิจดิวตี้ฟรีมากับมือ จนกลายเป็นเศรษฐีอันดับ 3 ของประเทศ ต้องบอกว่า ยากที่จะหาใครมาต่อกรกับ “เจ้าสัวVS” ผู้มีคติว่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้ ขอเพียงคิดบวกเข้าไว้เท่านั้น ปัญหาใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องขี้ผง

[caption id="attachment_341955" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ด้วยความที่เจ้าสัววิชัย เดินงานมากับมือทุกอย่าง ผนวกกับการรักษาคำพูด รับปากไว้จ่ายแน่นอน ทำให้อาณาจักรคิงเพาเวอร์เข้มแข็งเป็นป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรง มิเพียงเป็นที่พักของ “นกกา” แม้แต่ “ผู้มีอำนาจ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ ที่เป็นพญาอินทรี” ต่างก็ได้อาศัยพักพิง

แต่ยามที่ต้นไม้ใหญ่ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” จากไปสู่ภพภูมิที่ดีในสัมปรายภพ ทิ้งอาณาจักรคิงเพาเวอร์ไว้ในอุ้งมือของทายาททั้ง 4 คือ “ต้อล-อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา, วรมาศ ศรีวัฒนประภา, อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา และ ต๊อบ- อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา บริหารกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เจ้าสัวสรรค์สร้างขึ้นจากหลักพันล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท กำลังสั่นคลอนอย่างหนักหน่วง
อณาจักร คิงส์ ที่สั่นคลอนมาจากหลายสาเหตุ หลักใหญ่คืออาณาจักรคิงเพาเวอร์นั้นเสาคํ้ายันหลักอยู่ในมือเจ้าสัววิชัย การจากไปในวัย 60 ปี ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด การส่งผ่านงานประสบการณ์ สายสัมพันธ์และบารมีไปยังทายาทโดยธรรมยังไม่บังเกิดผล

เหตุผลต่อมาคือ การเดินงานใหญ่ของธุรกิจที่ต่อสายสัมพันธ์กับการเมือง ข้าราชการ ทหาร อยู่ในมือของเจ้าสัววิชัย และ กนกศักดิ์ ปิ่นแสง ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่เป็น “มิตรสหายที่ดี” เท่านั้น ที่เหลือคือ “มือทำงาน” แต่คนตัดสินใจปลายทางคือ เจ้าสัววิชัย บัดนี้ท่านเจ้าสัวจากไปคำสัญญาต่างๆ รวมถึง “รายรับ-รายจ่าย” ที่ทำกันไว้ จึงไม่มีใครรู้ ไม่มีใครทราบ...
DUTYFREE-1 DUTYFREE-2 แน่นอนว่า เมื่อไม่มีใครทราบ ทายาทย่อมต้องมีการถามหาหลักฐาน “ความรำคาญ ขัดข้อง หมองใจ” ย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย แบบไร้คำอรรถาธิบาย ที่เป็นลายลักษณ์อักษรปกติ  นี่อาจนำมาซึ่งความสั่นคลอนต่อการบริหารจัดการอาณาจักรธุรกิจแสนล้านที่บริหารงานโดยทายาท...

สั่นคลอนต่อมา เป็นเรื่องที่ประจวบเหมาะเหลือเกินที่อาณาจักรธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองไทยกำลังเข้าสู่ภาวะรอต่อขอการเปิดสัมปทานใหม่ ที่ต้องบอกว่า ผู้ประกอบการขาใหญ่หลายรายจ้องตาเป็นมันกับขุมทรัพย์แสนล้าน ที่มีลูกค้ามาหาแน่นอนปีละ 35-40 ล้านคน ขึ้นอยู่กับการจัดการว่า ทำอย่างไรให้ “ซื้อของ” เท่านั้น หากทำได้ “กำไรกินกันไม่หมด” สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ที่บริหารจัดการโดยกองทัพเรือ พล.ร.ต.ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา บอกว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 นี้ จะเปิดให้เอกชนซื้อซองประกวดราคาหาเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 2,000 ตร.ม. จำนวน 2 สัญญา 2 กิจกรรม ประกอบด้วย
เอกชนที่ซื้อซอง 1.พื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ขณะนี้มีผู้ซื้อซอง 5 ราย คือ 1. คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ 3. ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) 4. บางกอก แอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 5. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

2. พื้นที่ร้านค้าปลีก มีผู้ซื้อซอง 7 ราย ได้แก่ 1. คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ 2. เซ็นทรัล ดีเอฟเอสคอนซอร์เตี้ยม 3. เดอะมอลล์ กรุ๊ป 4. ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ 5. บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 6. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และ 7.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ทั้ง 2 สัญญาจะมีการเปิดประมูลแบบ PPP ให้สัมปทานสัญญาละ 10 ปี เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนและจ่ายผลตอบแทนให้กองทัพเรือ ไม่ตํ่ากว่า 12% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือรายได้ขั้นตํ่า ใครเสนอรายได้ให้มากที่สุดชนะ และเป็นการให้สัมปทานดิวตี้ฟรีแก่เอกชนเพียงรายเดียว ส่วนการเปิดให้บริการพื้นที่เคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (pick up counter) ในสนามบินอู่ตะเภานั้นกองทัพเรือจะดำเนินการเอง และเปิดให้ผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่แล้วเก็บค่าใช้บริการตามอัตราค่าเช่าพื้นที่และรายได้ที่ขายสินค้าในปี 2562
พื้นที่รีเทล สนามแรกมีขาใหญ่ไทยและต่างประเทศกระโดดมาแย่งชิงแข่งกับ “เจ้าถิ่น-เจ้าที่” คิงเพาเวอร์ แบบไม่มีความเกรงกลัวใดอีกแล้วสนามแรกมีพื้นที่ขายไม่มากนัก มีลูกค้าเข้ามาแน่นอนปีละ 5-10 ล้านคน แต่ไม่ใหญ่เท่าสนามที่ 2 ที่ต้องบอกว่ามีคนพร้อมโค่นแชมป์เก่าเจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ครอบครองอยู่

เมื่อสัมปทานระยะ 20 ปี ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารปีละ 35-40 ล้านคน เดินทางเข้ามาประเทศไทยจะหมดสัญญาลงในวันที่ 27 กันยายน 2563  แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หรือ AOT จะต้องเปิดทีโออาร์ และเปิดให้เอกชนที่สนใจมาซื้อซองประกอบราคาสัมปทานดิวตี้ฟรีเป็นเวลา 10 ปี ภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ เพื่อจะได้เปิดประมูลในเดือน มกราคม.-กุมภาพันธ์ 2562
ค่าสัมปทาน คิงส์ เค้กก้อนนี้ใหญ่มโหฬารที่สุด พิจารณาได้จากยอดขายที่คิงเพาเวอร์จ่ายออกไปให้กับบริษัท AOT ในอดีตได้ว่า เฉพาะค่าสินค้าปลอดอากรปีละ 33,000 ล้านบาท เฉพาะส่วนแบ่งปันกำไร 15-20% จากยอดขายก็ตกปะละ 6,000 ล้านบาท

ที่สำคัญกว่านั้น มีการแย้มพรายออกมาจาก นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท AOT ว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ ทอท.จะนำร่างทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ ให้คณะกรรมการที่มี ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ เพื่อเปิดประมูลสัญญาใหม่ สัญญาประมูลจะเป็นสัญญาเดียวหรือแบ่งสัญญาตามพื้นที่ หรือหมวดหมู่สินค้า ต้องรอข้อสรุป

ขณะที่จุดพิกอัพเคาน์เตอร์ ที่เดิมทางกลุ่มคิงเพาเวอร์ดำเนินการได้เพียงรายเดียวจะแยกประมูล เพื่อให้ทุกรายมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

ผมไม่ต้องบอก ผู้อ่านก็คงมองเห็นได้ว่า การเสนอตัวเข้าชิงขุมทรัพย์ดิวตี้ฟรีแสนล้านของขาใหญ่จะรุนแรงแค่ไหน ในอดีตอาจมีคนอยากได้ธุรกิจนี้ แต่ไม่มีโอกาสแข่ง อาจด้วยบารมี ด้วยสายสัมพันธ์ ด้วยพลังของเจ้าสัววิชัย และ “ฟ้าไม่เปิด” แต่บัดนี้ “ฟ้าเปิดกว้าง สัมปทานหมด”    

ท่านคิดว่า จะมีใครยอมใคร...

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา 
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3415 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 พ.ย.2561
595959859