'อีอีซี' ดัน 'จีดีพี' ประเทศโตปีละ 2% ปีหน้าตั้งเป้าโรดโชว์เข้มข้นดึงลงทุน

01 พ.ย. 2561 | 13:05 น.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในปี 2562 จะเน้นในเรื่องการชักจูงให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาลงทุนพัฒนา อีอีซีและพื้นที่อื่น ๆ นอกอีอีซี โดยจะกำหนดเป้าหมายปี 2562 เน้นไปพบปะนักลงทุน หรือ โรดโชว์ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รวมทั้งประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อชักจูงนักลงทุนเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น

"วันนี้ในต่างประเทศรับรู้ถึงศักยภาพของอีอีซีมากพอแล้ว โดยหลังจากนี้จะไปชี้แจงเชิญชวนนักลงทุนจะต้องเฉพาะเจาะจงรายอุตสาหกรรม ไปนำเสนอว่าทำอะไรบรรลุตามแผนงานแล้วบ้าง เช่น การออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แล้ว ได้เดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว เป็นต้น"

สำหรับการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนในพื้นที่จะได้อะไรบ้าง แผนผังการใช้พื้นที่ครอบคลุมหมดทุกด้าน ทั้งสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน สุขอนามัย น้ำประปา ไฟฟ้า ดูแลให้เกิดประโยชน์ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น อีอีซี ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิด โดยร่างแรกที่ค่อนข้างสมบูรณ์จะออกมาในช่วงต้นเดือน ธ.ค. นี้ จะเป็นร่างที่พิจารณากันได้ และจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และจะใช้เวลาอีกคาดว่าจะมีผลในอีก 6 เดือน ส่วนเรื่องของการวางแผนเพื่อรับการขยายการพัฒนาจากอีอีซี 3 จังหวัดแรก ไปสู่การพิจารณาขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ จะพิจารณาว่าทำอย่างไรให้เหมาะสม โดยผลจากการประชุมจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันที่ 9 พ.ย. นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งเป้าหมาการดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 5 ปี จะมียอดเงินลงทุนจากการดึงดูดการลงทุนของสำนักงานอีอีซี ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

โดยในจำนวนนี้จะเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) 50% และกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) 50% ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นการประเมินขึ้นมาใหม่จากเดิม ที่คาดว่าจะมีการลงทุนใน First S-Curve 70% และ New S-Curve 30% เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในกลุ่ม New S-Curve เพิ่มขึ้นสูงมาก

ในส่วนของการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่อีอีซี ภายใน 5 ปี จะมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 20%, อุตสาหกรรมอากาศยาน 20%, อุตสาหกรรมชีวภาพ 25%, อุตสาหกรรมดิจิทัล 25% และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 10% โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันจีดีพีของประเทศ โดยในแต่ละปีคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการดึงดูดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท และจากสำนักงานอีอีซีปีละกว่า 1 แสนล้านบาท จะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ประมาณปีละ 2% มาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1% และมาจากการลงทุนภาคอุตสาหกรรม 1% ซึ่งเมื่อรวมกับการเติบโตของจีดีพี ที่ในแต่ละปีจะขยายตัวประมาณ 3% จะทำให้จีดีพีในแต่ละปีนับจากปี 2562-2566 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5%


ติดตามฐาน