ส่งออกไทยปี 61 ส่อหลุดเป้า 8%! โค้งท้ายต้อง 2.1 หมื่นล้านดอลล์/เดือน ลุ้นสหรัฐฯ นำเข้าเพิ่ม

05 พ.ย. 2561 | 09:39 น.
สรท. ชี้! ส่งออกไทย ปี 61 โต 8-9% หืดจับ ระบุ 3 เดือนสุดท้าย เฉลี่ยต้องทำให้ได้สูงถึง 21,958-22,747 ล้านดอลล์ต่อเดือน ลุ้นสหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มโค้งสุดท้าย ประสานเสียงสภาอุตฯ ปีหน้าส่งออกไทยโตไม่เกิน 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ การส่งออกของไทยในปี 2561 อาจขยายตัวไม่ถึง 9% ตามที่ ธปท. ประเมินไว้ (9 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกไทยมีมูลค่า 189,729.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.1%) ว่า การขยายตัว 9% อาจจะยาก แต่การขยายตัวที่ 8% ยังมีโอกาสเป็นไปได้

ทั้งนี้ หากจะขยายตัวที่ 9% ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยจะต้องทำได้เฉลี่ยที่ 22,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน หากขยายตัวที่ 8% ต้องทำให้ได้ 21,958 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน และขยายตัว 7% ต้องทำให้ได้ 21,169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน (สถิติส่งออกไทยช่วง 3 เดือนสุดท้าย ปี 2560 มีมูลค่า 61,178.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ย 20,392.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน)


TP9-3415-A

"สถิติในปีที่ผ่านมา ช่วงไตรมาสสุดท้าย การส่งออกในเดือน พ.ย. จะขยายตัวมากที่สุด เพราะคู่ค้าเร่งนำเข้าเพื่อไปจำหน่ายในช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ รวมถึงอาจยาวถึงตรุษจีน ส่วนเดือน ต.ค. และ ธ.ค. จะขยายไม่มาก โดยปัจจัยลบ คือ สงครามการค้า ที่จีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากไทยไปผลิตส่งออกต่อลดลง แต่มองว่า มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือน มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะนำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์ส่งออกไว้ที่ 8% จะปรับหรือไม่ ต้องรอดูตัวเลขส่งออกเดือนที่เหลืออีกครั้ง"

ส่วนคาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 2562 เบื้องต้น สรท. คาดจะขยายตัวได้ที่ 5% (จากเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8%) มีปัจจัยลบจากสงครามการค้า หากยังยืดเยื้อจะเริ่มส่งผลมากขึ้น และจะมีผลต่อซัพพลายเชนของโลก, ความผันผวนการเงินโลก เงินบาทยังแข็งค่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน และต้นทุนนํ้ามันยังผันผวนในทิศทางเพิ่มสูงขึ้นจากการควํ่าบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ


ท่าเรือส่งออก

ส่วนปัจจัยบวก ไทยมีโอกาสจากสงครามการค้า เช่น การส่งเสริมสินค้าใหม่ ๆ ที่ไทยมีศักยภาพไปยังภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้, ส่งเสริมการจัดโรดโชว์ไปเจาะตลาดสำคัญ ๆ ที่ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่ ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการย้าย/ขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจากจีนและสหรัฐฯ เข้ามาในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยจะสามารถซัพพลายทั้งสินค้าวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป เข้าไปรองรับการผลิตจากการย้ายฐานในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทยที่ต้องจับตามอง 6 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งหากพรรครีพับลิกันชนะ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนก็จะยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ, 2.การเลือกตั้งภายในของไทย ในเดือน ก.พ. 2562 ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้า, 3.สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางต่อราคานํ้ามัน และกำลังซื้อกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, 4.ความกังวลเรื่องอิตาลีถูกลดอันดับเครดิต ทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้แสดงท่าทีที่จะไม่อนุมัติงบประมาณขาดดุลของอิตาลีที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ในภาพรวม, 5.ตลาดทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงเทขาย เหตุจากเริ่มเห็นผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และ 6.การเมืองโลกเข้มข้นเรื่อย ๆ ทั้งเบรกซิท, อิตาลี, สหรัฐฯ-อิหร่าน, สหรัฐฯ-รัสเซีย และสหรัฐฯ-จีน


เรือส่งออก

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในปีหน้าหากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อหรือทวีความรุนแรง จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกชะงักงัน ซึ่งหลายสำนักพยากรณ์ รวมถึง ส.อ.ท. คาดการส่งออกไทยปี 2562 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 5%

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ยังคาดการณ์ยากว่าการส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด แต่จะขยายตัวลดลงจากปีนี้แน่นอน โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ สงครามการค้า ที่คาดว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะขยายวงทำสงครามและเจรจาการค้าที่เข้มข้นไปยังคู่ค้าอื่นที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ มาก เช่น อียูและญี่ปุ่น ที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ตามลำดับ) และจะกระทบบรรยากาศการค้าโลกหดตัวลง


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,415 วันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2561



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว