'กรุงไทย' แนะ "เร่งเสริมทักษะ-เพิ่มออม" หนี AI กดรายได้มนุษย์เงินเดือน

05 พ.ย. 2561 | 10:19 น.
ผลกระทบด้านลบของเทคโนโลยี Automation หรือ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามาแย่งงาน หรือ สร้างงานใหม่ ๆ มากขึ้น ทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องเรียนรู้เพิ่มทักษะควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เดิม หรือ แสวงหาอาชีพใหม่ เพราะจากรายงานของ World Economic Forum ประเมินว่า อีก 5 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2565 Automation ซึ่งรวมถึงเครื่องจักรที่ตั้งโปรแกรมทำงานด้วยตัวเอง หรือ ระบบอัตโนมัติ จะก่อให้เกิดงานใหม่มากกว่างานที่จะหายไป โดยจะมีงานใหม่กว่า 133 ล้านตำแหน่ง ในปี 2563 และนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลงในบางประเภท หรือ ลักษณะงานที่ยาก ต้องการทักษะที่สูง แต่ก็มีค่าจ้างสูงเช่นกัน


MP24-3415-B

ล่าสุด Krung Thai Macro Research ธนาคารกรุงไทย ได้ออกบทวิจัยถึงชาว Millennials คือ ผู้ที่เกิดในช่วงปี 2523-2540 ซึ่งมีสัดส่วน 28% ของประชากรคนไทย เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานและต้องอยู่ในตลาดแรงงานในช่วงกว่า 20 ปีข้างหน้า ถือเป็นช่วงเวลาที่ Automation จะทำงานแทนพนักงานในออฟฟิศ หรือ White-Collar Jobs รวมทั้งงานที่มีค่าจ้างสูง ๆ ที่สำคัญ คือ Automation จะมีผลทั้งต่อความก้าวหน้าในอาชีพงานและการเติบโตของค่าจ้าง หรือ 'รายได้' ในอนาคต โดยเฉพาะทางเลือกการปรับตัวของแรงงานต่อรายได้และการออมการลงทุนในช่วงวัยทำงาน เพื่อให้รองรับการดำเนินชีวิตระยะยาวหลังเกษียณ

"พชรพจน์ นันทรามาศ" ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เผยว่า Automation จะมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานบางประเภท โดยเฉพาะงานประจำ และจะมีผลต่อการเติบโตของรายได้และภาวะความเป็นอยู่ในอนาคต

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2561 พบว่า 50% ของบริษัทในกลุ่มตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วโลก คาดว่า Automation จะกระทบการจ้างงานแบบเต็มเวลา ภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยต่างก็มีแผนจะนำ Automation มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น แม้ไม่มีการลดจำนวนพนักงานลงด้วยการเลิกจ้าง แต่ก็เตรียมปรับโครงสร้างองค์กร ขณะผลสำรวจของ Deloitte ในปีก่อน กลุ่ม Millennial เริ่มกังวลกับอนาคต โดย 40% คิดว่า Automation เป็นภัยคุกคามต่องานที่ทำอยู่

"กิตติพงษ์ เรือนทิพย์" รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย บอกว่า การเติบโตของรายได้ชาว Millennial ที่ลดลง 1% อาจต้องทดแทนด้วยการออมที่เพิ่มขึ้นถึง 4% ของรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณเท่าเดิม บางกรณีหาก Automation ทำให้รายได้เราโตเท่าอัตราเงินเฟ้อ อาจต้องออมถึง 35% จากเดิมที่ออมเพียง 25% ซึ่งการออมมากขนาดนั้น ทำไม่ได้ง่ายนัก


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ดังนั้น ชาว Millennial ควรคิดปรับตัวจากผลกระทบด้านลบของ Automation ซึ่งไม่ว่าจะทำงานประจำที่เดิม อัตราเติบโตรายได้จะน้อยลง ซึ่งกระทบต่อเงินออมระยะยาว หรือ ย้ายจากบริษัทใหญ่ไปทำงานประเภทเดียวกันในบริษัทขนาดกลาง หรือ 'เอสเอ็มอี' แทน ในช่วงอายุ 31-35 ปี จะมีค่าแรงเฉลี่ยน้อยกว่าบริษัทใหม่ 14% และหากเลือกเรียนต่อ หรือ เพิ่มทักษะงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในบริษัทใหญ่ ช่วงอายุ 31-35 ปี จะมีค่าแรง เฉลี่ยสูงกว่า 56% เช่น คนอายุ 30 ปี เงินเดือน 3 หมื่นบาทต่อเดือน เมื่ออายุ 59 ปี เงินเดือนก่อนเกษียณ 9.1 หมื่นบาท เพิ่ม ตามอัตราเงินเฟ้อและประสบการณ์ โดยไม่ถูกรบกวนจาก Automation

ดังนั้น นอกจากเพิ่มอัตราการออมแล้ว ชาว Millennial ควรพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันประเภทต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดด้านสุขภาพ พร้อมตรวจเช็กสิทธิประโยชน์ ผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ หรือ แบ่งเงินออมเพื่อเกษียณ โดยไม่นำมาใช้จนจะเกษียณ และเลือกลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว โดยไม่กังวลความผันผวนระยะสั้น ๆ รวมถึงกระจายความเสี่ยงในหุ้น หรือ กองทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดี ที่สำคัญ ควรทำแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะช่วยให้มีเงินพอใช้จ่ายในวัยเกษียณ

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,415 วันที่ 4 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว