ลุ้นส่งออกประคองจีดีพี! ธปท. จับตาตัวเลขเดือน ต.ค. หวั่นสงครามการค้า

06 พ.ย. 2561 | 02:20 น.
ธปท. ชี้! แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังแจ่ม เหตุไตรมาส 3 ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่จับตาเดือน ต.ค. หลังสงครามการค้ากดส่งออกไทยติดลบ 5.5% ในเดือน ก.ย. เหตุตลาดจีนหดถึง 14.1% ด้าน เอกชนชูอีอีซี หนุนเศรษฐกิจโตได้อีก 2-3 ปี จากเม็ดเงิน 2 ล้านล้าน ที่จะเข้าระบบ

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่เติบโตชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาสงครามการค้าที่ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยที่ประเทศขนาดเล็กและเศรษฐกิจเปิด ทำให้สภาวะแวดล้อมจากภายนอกเข้ามามีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ เครื่องชี้โดยรวมขยายตัวได้ดี โดยไตรมาส 3 ขยายตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ แต่ช่วงที่เหลือต้องติดตามสถานการณ์ตัวเลขส่งออกไปจีนเดือน ต.ค. ว่า ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวหรือไม่ หลังจากที่เดือน ก.ย. ปรับลด 5.5% ส่วนหนึ่งมาจากฐานสูงปีก่อน แต่มีประเด็นการส่งออกไปจีนหดตัว 14.1% โดยเฉพาะยาง ซึ่งอาจเป็นความกังวลจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 การส่งออกจะต้องเติบโตที่ระดับ 11.4% จึงจะทำให้บรรลุเป้าการส่งออกทั้งปีที่ตั้งไว้ 9% ส่วนทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.4% ตามคาดหรือไม่ ต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ชัดเจนก่อน

 

[caption id="attachment_341654" align="aligncenter" width="336"] สมประวิณ สมประวิณ มันประเสริฐ[/caption]

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 4.7% ฟื้นตัวจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 9% แต่กิจกรรมด้านการส่งออกจะลดลง เหลือขยายตัวอยู่ที่ 5% ในปี 2562 จึงทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2562 จะขยายตัวที่ระดับ 4.2% แม้ว่าจะชะลอลง แต่การขยายตัวที่เกินระดับ 4% ถือยังรับได้ไม่มีปัญหาความกังวล

โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเริ่มมีเม็ดเงินทยอยเข้าสู่ระบบในปีนี้แล้ว 8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก 4 เท่า หรือราว 3.81 แสนล้านบาท ในปี 2562 โดยเห็นได้จากที่มีการเร่งประมูลสัญญาภาครัฐและการก่อสร้างเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวจาก 7% มาอยู่ที่ 9% และการบริโภคภาครัฐปรับจาก 2.3% เป็น 2.6%

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา แต่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 40 ล้านคน ในปี 2562 ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรไทย และแม้จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว แต่หากดูเหตุการณ์ในอดีต จะพบว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไปเพียง 4 เดือน และกลับมา ซึ่งเป็นจังหวะไฮซีซั่น

ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงยกเครื่องเศรษฐกิจ และในปี 2562 จะอยู่ในช่วงกำลังเริ่มเดิน โดยจะมีปัจจัยแวดล้อมกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 3 ด้านด้วยกัน คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีการปรับโครงสร้าง แม้ว่าจะขยายตัวในระดับ 3.7% ในปีนี้และปี 2562 แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง สะท้อนถึงความต้องการสินค้าและการบริโภคเติบโตลดลง อย่างไรก็ดี มองว่า เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้เกินระดับ 3% ถือว่าค่อนข้างดี


MP24-3415-A

ส่วนด้านที่ 2 คือ ปัญหาสงครามทางการค้า ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันของสหรัฐฯ ผ่านการตั้งกำแพงภาษีจีนที่จะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กระแสปกป้องการค้ามีทิศทางเข้มข้นขึ้น และด้านที่ 3 คือ นโยบายการเงินที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไม่มีความจำเป็น หรือ มีความจำเป็นน้อยลง โดยธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ จะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบเงินไหลออกและค่าเงินบาทให้แข็งค่าได้

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้ยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4.5% ภาคส่งออกขยายตัวได้ 8-9% ปีหน้าโอกาสเศรษฐกิจไทยเติบโต 4.3% โดยจะเห็นการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาครึ่งหลังของปี 2562 แม้ทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 อาจชะลอบ้าง จากผลกระทบด้านลบของภาคการส่งออกหดตัวเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น ยังมองโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเดือน ธ.ค. 2561 โดยที่ตลาดเงินเตรียมพร้อมสำหรับดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว


หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,415 วันที่ 4 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859