AIRPORT RAIL LINK ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงการพัฒนาอย่างเต็มระบบ

09 พ.ย. 2561 | 05:48 น.
ผมเข้าร่วมงานด้านระบบรางอย่างเต็มตัวโดยเริ่มจากงานด้านการเดินรถไฟฟ้า BTS ซึ่งนับเป็นสายแรกของไทย ผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจากการรถไฟของเยอรมัน ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อ BTS ให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้วยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านงานรถไฟฟ้าในไทยในตำแหน่งการควบคุมการเดินรถไฟฟ้าและสถานีอีกประมาณ 1 ทศวรรษ จากนั้นได้รับโอกาสทำงานต่อในด้านวางระบบรางรถไฟฟ้าอีกครั้งและครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเพราะเป็นสายแรกของดูไบ (ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์) นอกจากความภาคภูมิใจยังสามารถเรียนรู้งานด้านระบบรางได้อย่างเปิดกว้าง จนกระทั่งได้กลับมาในไทยอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษา โดยทำงานกับรถไฟฟ้าเยอรมัน (Deutsche Bahn International) หลังจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดินรถแล้วก็ได้มาสมัครเป็นพนักงานของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) อย่างเต็มตัว” ภาพรวมของเส้นทางและการเดินทางแบบคู่ขนานด้วยระบบรางตลอดชีวิตด้วยใจรักจากคุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)

TO__1102

ก่อนจะเป็น “ราง” ต้องวาง “ระบบ” คุณสุเทพ เล่าต่อว่า  แต่ละโครงการของการจัดทำระบบรางต้องใช้เวลาในการวางระบบประมาณ 1.5-2 ปี ทั้งในแง่ของการทดลองวิ่ง การแก้ไขปัญหาของการเดินรถ และมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ สำหรับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คือ โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในเมืองที่จะเดินทางไปยังท่าอากาศยาน รวมทั้งจากท่าอากาศยานเข้าสู่ตัวเมืองได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวสำหรับกลุ่มผู้โดยสารแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและผู้โดยสารชาวไทยในเขตกรุงเทพตะวันออกและทั่วไป โดยคิดเป็น 20% สำหรับชาวต่างชาติ และ 80% สำหรับชาวไทย

ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีในการดำเนินงานสิ่งที่เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาและแข่งขันกับตัวเองอยู่เสมอ คือ การให้บริการ โดยยึดเอา “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” โดยในแง่ของการพัฒนาเริ่มจากการปรับระบบรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA Express ให้เป็นระบบรถไฟท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA City Line (Suvarnabhumi Airport City Line) ทั้งหมดเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่มากขึ้นในทุกปี ซึ่งในปีแรกมีจำนวนผู้โดยสารต่อวันอยู่ที่ 30,000 คน แต่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 คนต่อวันหรือคิดเป็น 11% นับว่าเติบโตสูงมากในแง่ของผู้ใช้บริการที่มากขึ้น ด้านความจุและความถี่ของการให้บริการ ในระยะแรกใช้ความถี่อยู่ที่ 20 นาทีต่อเที่ยวแต่ในขณะนี้ปรับเป็น 10 นาทีต่อเที่ยว และคาดว่าในปีหน้าเมื่อรถให้บริการครบ 9 ขบวน ซึ่งในขณะนี้เดินรถอยู่ที่ 8 ขบวนจะปรับเวลาการให้บริการเป็น 8.5 นาทีต่อเที่ยว ขณะที่ความจุต่อเที่ยวในขณะนี้อยู่ที่ 700 ที่นั่ง

ปัญหา สำหรับผมคือ ความท้าทาย เนื่องด้วยการเดินรถไฟฟ้าของ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่กระจายแต่กระจุกโดยเฉพาะสถานีที่มีผู้โดยสารจำนวนมากอย่าง มักกะสัน รามคำแหงและหัวหมาก ทำให้เราต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมขบวนพิเศษเข้าให้บริการ ไม่เพียงเท่านั้นนอกจากโครงสร้างของการให้บริการ เรายังโฟกัสการสร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารอย่างครบวงจร ผ่านการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ สุขา ลิฟต์ บันไดเลื่อนและกล้องวงจรปิด โดยในขณะนี้พร้อมขยายสุขาเพิ่มใน 2 สถานี คือ สถานีลาดกระบังและสถานีหัวหมากพร้อมกับเพิ่มจำนวนลิฟต์และบันไดเลื่อนจากเดิมโครงการมี 100 ตัวปัจจุบันเพิ่มเป็น 140 ตัวเพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความคล่องตัวและครอบคลุมทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัยและผู้พิการ สำหรับมุมอับที่ไม่ปลอดภัยได้ขยายการติดตั้งกล้อง CCTV จาก 500 จุดเป็น1,000 จุด จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

090861-1927-9-335x503-3

เรื่องของรถไฟฟ้ามีมากกว่าระบบรางนอกจากการให้บริการที่ครบครัน เรายังต้องนำเอาข้อแก้ไขที่ดำเนินการตรวจสอบจากกลุ่มผู้โดยสารทุกๆ 6 เดือน มาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและภาพที่เห็นเด่นชัดคือการ สร้าง “Sky Walk” สถานีมักกะสันในมูลค่า 70 ล้าน เพื่อเชื่อม “แอร์พอร์ตลิงก์-รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรี” ซึ่งผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือตัวเลขของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จากปีแรกสถานีมักกะสันมีผู้ใช้บริการเพียง 2,000 คน แต่หลังจากการสร้างทางเชื่อมมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอย่างชัดเจนเป็น 10,000 คน ทั้งนี้ยังติดตั้ง ระบบ WIFI และที่ชาร์จสำรอง ตลอดจนขยายที่จอดรถเพิ่มเป็น 3,000 คันทั้งระบบทั้งนี้มีการจัดทำ สแปร์พาร์ต เซอร์วิส โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาการขาดอะไหล่ ทำให้ในขณะนี้การซ่อมบำรุงมีความคล่องตัวสูงขึ้นที่สำคัญได้พัฒนา แอพพลิเคชัน  Airport  Rail Link เพื่อแสดงเวลาการเดินรถและข่าวสารต่างๆของ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้อย่างฉับไวและตอกย้ำการเป็นผู้นำการให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่มีมาตรฐานระดับสากล

ด้านแผนพัฒนาต่อจากนี้ เราต้องเตรียมพร้อมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อและการให้บริการสายเดิมที่เรารับผิดชอบ ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีสุด คือ การพัฒนาบุคลากร โดยคุณสุเทพ มองว่า การขับเคลื่อนระบบรางที่ดีที่สุด ไม่ใช่รถไฟฟ้า อะไหล่ แต่เป็น บุคลากร ฉะนั้นนอกจากการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการจัดฝึกอบรมและเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จากทางมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พร้อมกันนี้เรายังคัดสรรเพื่อคัดเลือกครูฝึกที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถนำความรู้ที่มีส่งต่อให้กับพนักงานรุ่นต่อๆ ไป รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้มีกว่า 90 คน เพื่อขยายฐานของระบบรางที่เกิดจากมันสมองสู่การยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานในด้านดังกล่าวของไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

“ไม่ว่าจะเป็นระบบรางหรือเส้นทางของชีวิตทุกอย่างต้องมี เป้าหมาย และทุกขั้นตอนต้อง ชัดเจน”คุณสุเทพเล่าต่อไปว่า ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตเมื่อเรามีหลักชัยหรือเป้าหมายเป็นจุดตั้งต้นที่ชัดเจน จะทำให้เรามีจุดเริ่มต้นที่ดี สามารถคิดแก้และจัดการกับปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะการมองปัญหาให้เป็นความท้าทายและใช้สติ ปัญญา ค้นหาต้นตอและสาเหตุ อย่างไรก็ดีเรายังมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมแบบพี่น้อง ส่งมอบกำลังใจให้แก่กัน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทุกคนแบ่งเวลาอย่างสมดุล และไม่หลงลืมความเป็น สมาร์ท  นับตั้งแต่บุคลิกภายนอกไปจนถึงกระบวนการคิดภายใน ที่สำคัญไม่หยุดปลูกฝังที่จะพัฒนาทั้งต่อตัวเอง ทีมงาน หน่วยงาน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศชาติต่อไป หนึ่งเส้นทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและเต็มเปี่ยมไปด้วยเป้าหมายที่มีผู้โดยสารหรือลูกค้าเป็นศูนย์กลางของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,415 (864) วันที่ 4 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62