‘เถ้าแก่น้อย’แตกไลน์สู่QSR ดึงแบรนด์ดังญี่ปุ่นชิมลาง-ลดเสี่ยงทัวร์จีนวูบ

03 พ.ย. 2561 | 10:00 น.
“เถ้าแก่น้อย” แตกไลน์ธุรกิจใหม่ สู่ QSR หวังลดเสี่ยง หลังไทยเผชิญวิกฤติยอดนักท่องเที่ยวจีนวูบ พร้อมชูวิชันใหม่ “Marketing Happy” สร้างแบรนด์ทะยานสู่โกลบัล ล่าสุดทุ่ม 150-200 ล้านบาท ใน 4 ปี ปั้น “เถ้าแก่น้อยแลนด์” เพิ่ม 100 สาขา เจาะทุกหัวเมืองหลัก

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟูดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูป “เถ้าแก่น้อย” เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทประกาศแผนสร้างแบรนด์ในประเทศจีนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการเข้าถึงในตัวแบรนด์ไปยังกลุ่มผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์การกระจายสินค้า ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพันธมิตรในส่วนของดิสตริบิวชันในประเทศจีนจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 ราย เพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์สาหร่ายเป็นหลัก โดยวางเป้าหมายในการบุกเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่กว่า 28 เมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในช่วง 10 ปีนับจากนี้ด้วยการก้าวเป็นบริษัทในระดับโกลบัลแบรนด์

[caption id="attachment_341356" align="aligncenter" width="335"] อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์[/caption]

“ที่ผ่านมาแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักจะลดลง จากปัญหาต่างๆ ซึ่งยอมรับว่าถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์การทำงาน เช่น หันหานักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพรองลงมา อย่างเวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ เพราะกลุ่มเหล่านั้นก็มีความต้องการที่อยากซื้อของฝากเช่นกัน”

ทั้งนี้บริษัทยังแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนงานว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจไหนบ้าง โดยเบื้องต้นจะซื้อเป็นแฟรนไชส์ฟู้ด รีเทลเข้ามาทำตลาดในไทย ในรูปแบบร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) เพื่อรองรับเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายแต่ไม่นิยมอาหารสำเร็จรูป โดยในช่วงปลายปีจะมีการทดลองเปิดตัวแบรนด์ QSR ใหม่จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาตลาด และหากได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะทุ่มเงินลงทุนเพื่อรุกตลาดอย่างจริงจัง

S__37568540

สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะมีขึ้นภายใต้วิชัน 10 ปีที่วางไว้เป็นยุทธศาสตร์หลัก ในการก้าวขึ้นสู่การเป็น“Marketing Happy” ประกอบด้วย 3 หัวใจหลักในการพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ 1.อร่อย 2.Health และ 3.Fun จากเดิมที่เน้นเจาะกลุ่มทัวริสต์เป็นหลักสู่การขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งการขยายดิสตริบิวชันหรือการแตกไลน์ใหม่ๆคือสิ่งที่บริษัทมองหาอย่างต่อเนื่อง เพราะแบรนด์เถ้าแก่น้อยมีศักยภาพมากกว่าความเป็นผลิตภัณฑ์ขนมที่มาจากสาหร่ายเพียงอย่างเดียว โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตสาหร่ายที่อเมริกาขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวน การทำตลาดและกระจายสินค้า ซึ่งเริ่มมองเห็นยอดขายบ้างแล้ว ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะเป็นสปริงบอร์ดสำคัญในการขยายตลาดอื่นในต่างประเทศ โดยในปีหน้าทิศทางการดำเนินงานของโรงงานดังกล่าวจะเริ่มชัดเจน โดยบริษัทวางเป้าหมายยอดขายจากโรงงานดังกล่าวที่ 2,000 ล้านบาทในปี 2567

ขณะที่ความท้าทายในการทำตลาดขนมขบเคี้ยว คือจะต้องมีการหานวัตกรรมออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสที่บริษัทจะอยู่รอดหรือเติบโตแบบก้าวกระโดดจำเป็นต้องมีนวัตกรรมต่อเนื่อง แม้ในช่วงของการพัฒนาอาจจะมีสินค้าที่ผิดพลาดบ้างแต่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากสามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดได้ 1-2 ตัวต่อปีก็คือประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

S__37568519

ล่าสุดบริษัทได้เปิดร้านในรูปแบบใหม่ภายใต้ เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส ขนาดพื้นที่ 150 ตร.ม. งบลงทุน 5-10 ล้านบาท โดยสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ซึ่งถือเป็นสาขาต้นแบบ เป้า 100 สาขา งบ 150-200 ล้านบาทใน 4 ปี แบ่งเป็นร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์รูปแบบมินิกับขนาดปกติ 60 สาขา ที่เหลือ 40 สาขาจะเป็นเถ้าแก่น้อยพลัส โดยจะไปในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งรูปแบบร้าน นอกจากจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทขนมที่เป็นหนึ่งในจุดขายหลักของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์สาขาปัจจุบันแล้ว ยังมีสินค้าของฝากของที่ระลึกต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยมีสินค้ามากกว่า 2,000 รายการ จากเดิมมีประมาณ 1,000 รายการ ซึ่งสินค้าหลัก 60% จะเป็นกลุ่มอาหาร โดยในจำนวนนี้ 20% จะเป็นสินค้าแบรนด์เถ้าแก่น้อยและเฮาส์แบรนด์ของร้าน ส่วนอีก 40% จะเป็นสินค้าอื่นๆ ซึ่งจะประกอบไปด้วยสินค้าในกลุ่มสุขภาพ สปา บำรุงผิว กลุ่มสมุนไพร เช่น ยาดม ยาหม่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขายดีที่สุดในแง่ของปริมาณ ตลอดจนยังมีของฝาก ของที่ระลึกต่างๆ อาทิ สิ่งทอ พวงกุญแจ หรือที่นอนยางพารา เป็นต้น ส่วนราคาก็จับต้องได้ด้วยเช่นกัน

090861-1927-9-335x503-8-335x503

 

S__37568523 อย่างไรก็ตามปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 5,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ต่างประเทศ 60% ในประเทศ 40% โดยเถ้าแก่น้อยแลนด์มีรายได้ 300 ล้านบาท ตั้งเป้าใน 4 ปีมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาด สแน็กเมืองไทยปัจุจบันมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเติบโต 5-6% แบ่งเป็นตลาดสาหร่ายมีมูลค่า 3,000 ล้านบาทเติบโต 8-9% โดยเถ้าแก่น้อยเป็นผู้นำตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ 70%

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3415 ระหว่างวันที่ 4 - 7 พฤศจิกายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว