ทำกิจกรรมการเมืองไม่ให้ขัดก.ม.

02 พ.ย. 2561 | 07:56 น.
ทำกิจกรรมการเมืองไม่ให้ขัดก.ม.

กกต.แจงแนวทางดำเนินกิจกรรมการเมือง พรรคการเมืองใหม่ไม่ให้ขัดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 พฤศจิกายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ประชุมชี้แจงการดำเนินกิจกรรมให้แก่พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ แบ่งเป็น ช่วงเช้าพรรคสยามพัฒนา พรรคพรรคพลังไทยรักไทย พรรคพลังชาติไทย และพรรคประชาชาติ และช่วงบ่าย พรรคไทยธรรม พรรคเพื่อคนไทย พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังรวมประชาชาติไทย

โดยนายแสวง เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เมื่อพรรคได้รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้วให้รับสมัครสมาชิกได้ทันที โดยผู้ร่วมจัดตั้งพรรค 500 คน จะถือว่า มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกพรรค ส่วนเรื่องหาสมาชิก 100 คน แนะนำให้แต่ละพรรคเผื่อจำนวนไว้ ป้องกันกรณีสมาชิกซ้ำซ้อนกับพรรคอื่นซึ่งจะมีผลให้เสียทั้ง 2 พรรคที่จะถูกตีความว่า หาสมาชิกชอบหรือไม่
กรณีกองทุนเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ในปีงบประมาณ 2562 วันที่ 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2562 ซึ่งกกต.ได้จัดสรรรูปแบบใหม่จะได้เท่าไรขึ้นอยู่กับเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยกกต.ได้รับงบประมาณ 130 ล้านบาท สามารถจัดสรรให้พรรคการเมืองได้ 117 ล้านบาท คาดว่า จะโอนเงินอุดหนุนให้พรรคการเมืองได้ในช่วงต้นปี 2562 อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาคำนวณเงินอุดหนุน หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อาจนำข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 หรือ 31 ธันวาคม 2561 มาใช้ แต่หากใช้ข้อมูลวันที่ 31 ธันวาคม 2561 อาจมีความล่าช่าในการส่งเงินอุดหนุนได้ในเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อสมทบกับเงินค่าบำรุงที่แต่ละพรรคเก็บได้ และจำนวนสาขาพรรค เมื่อได้รับเงินไปแล้วสามารถนำใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ซึ่งกฎหมายค่อนข้างกว้างสามารถนำไปใช้ในการหาเสียงได้ โดยต้องทำเอกสารรายงาน กกต. ส่วนพรรคการเมืองเก่าจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนที่มาจากเงินบริจาคจากภาษีด้วย

พร้อมย้ำว่า ขณะนี้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 13 ยังมีผลบังคับใช้ ก่อนที่พรรคจะดำเนินกิจการใดๆต้องแจ้ง กกต.ก่อนดำเนินกิจกรรม 5 วัน เช่น การประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคจะต้องมาจากที่ประชุมใหญ่ หลายพรรคกรรมการบริหารลาออก หรือมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับพรรค

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้วต้องดำเนินกิจการทางการเมืองตาม มตรา 23 ของพรรคการเมืองอย่างน้อยปีละ 1 อย่าง ในส่วนของกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องประกอบด้วย กรรมการบริหาร 7 คน สมาชิกพรรค 4 คน รวม 11 คน เนื่องจากเจตนา คสช. มองว่า หลังปลดล็อคพรรคการเมืองอาจตั้งสาขาไม่ทัน จึงเขียนกฎหมายให้รับฟังจากตัวบุคคล เช่น ผู้แทนสาขา ตัวแทนหรือสมาชิกพรรคการเมืองประจำจังหวัด คำสั่งคสช.ที่ 13 จึงเป็นไพรมารี่แบบย่อ หรือ มินิไพรมารี่ ความหมาย คือ ต้องตั้งตัวแทนหรือสาขาพรรคเพื่อฟังความเห็นซึ่งกฎหมายของเก่า พรรคจะต้องจัดประชุม แต่กฎหมายใหม่ไม่ต้องประชุมแค่รับฟังเท่านั้น”

ส่วนการตั้งสาขาพรรค ต้องมีสมาชิกในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป และบุคคลนั้นต้องมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะต้องอยู่ในพื้นที่และต้องมีจำนวน 101 คนขึ้นไป ทั้งนี้ กฎหมายมีความสลับซับซ้อน แนะนำให้พรรคมีนิติกรอย่างน้อย 1 คน ทำหน้าที่ประสานกับกกต. เพราะกฎหมายหลาย 10 มาตรา มีโทษตั้งแต่ใบแดงถึงใบดำ เปลี่ยนค่าปรับทางปกครอง เป็นค่าปรับทางอาญา

สำหรับกรณีการรับบริจาค กฎหมายกำหนดห้ามบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อรายต่อปี ขณะนี้รับบริจาคได้เฉพาะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น เงินของพรรคการเมืองก่อนการปลดล็อกจะมาจากทุนประเดิม กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองหรือค่าสมาชิกเท่านั้น
หากต้องการรับบริจาคจากบุคคลภายนอก สามารถใช้คำสั่ง คสช.ที่ 53 ข้อ 4 ขออนุญาตได้ เช่น ขายสินค้าที่ระลึกระดมทุน ส่วนการระดมทุนในรูปแบบจัดทอล์คโชว์ ขายโต๊ะ ยังทำไม่ได้เพราะอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งจะขัดคำสั่งคสช.

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว