กสอ. เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีสู่ "บัญชีเดียว" เข้าถึงสินเชื่อ

02 พ.ย. 2561 | 05:53 น.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเร่งผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านระบบบัญชีและการเงิน โดยเฉพาะการทำบัญชีเดียว พร้อมชี้ประสิทธิภาพทางธุรกิจ 4 ข้อ พร้อมจัดทำโครงการ "เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน" ซึ่งมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 15 จังหวัด

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กสอ. ได้มุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ความเข้าใจในด้านระบบบัญชีและการเงิน เนื่องจากขณะนี้ ยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังขาดทักษะทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องเร่งกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้ได้เห็นประโยชน์ในการปรับปรุงระบบบัญชีและการเงินของกิจการ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยประสิทธิภาพอันสูงสุด โดยหนึ่งในมาตรการที่ขณะนี้กำลังเร่งผลักดันอย่างจริงจัง ก็คือ การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียว จากเดิมที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีหลายบัญชี ซึ่งจากการที่ธุรกิจมีหลายบัญชีจะส่งผลเสียในระยะยาว


thumbnail_นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีเดียวนับว่าเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกับข้อเท็จจริงของธุรกิจ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมและการบริหารเงินของผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการได้ตรงจุด และตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะมองเห็นภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงและชัดเจน นอกจากนี้ ในภาพรวมยังพบอีกว่า เอสเอ็มอีที่มีการใช้ระบบัญชีเดียวส่วนใหญ่ยังสามารถบริหารธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการจะไม่เกิดความสับสนว่า บัญชีเล่มไหนคือเล่มจริง และทำให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสภาพคล่องทางธุรกิจ ว่า สินค้าหรือบริการประเภทใดที่สามารถทำกำไรให้กับตนได้เป็นอย่างดี พร้อมนำไปวางแผนการบริหารจัดการได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาในการตกแต่งบัญชี เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าได้อีกด้วย

2.โอกาสในการขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งการมีบัญชีเดียวจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและสะท้อนสถานะทางการเงินของธุรกิจอย่างแท้จริง ทำให้มีโอกาสในการขอสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะเมื่อธนาคารได้เห็นข้อมูลของธุรกิจที่ถูกต้องและเป็นจริง ธนาคารก็จะสามารถพิจารณาสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจได้ และในอนาคตธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อจากบัญชีของธุรกิจที่ใช้ยื่นกับกรมสรรพากรเท่านั้น


thumbnail_หน่วยงานที่มาให้ความรู้ด้านการเงิน

3.การลดหย่อนภาษี ค่าใช้จ่ายบางรายการที่ปรากฏบนบัญชีเดียว เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมพนักงาน ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ กิจกรรมเหล่านี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดด้านกำไรสุทธิบางประการ ที่หากตรวจสอบแล้วว่า เกิดจากบัญชีชุดเดียว กรมสรรพากรยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย

และ 4.ไม่มีความเสี่ยงต่อการประเมินภาษีย้อนหลัง เนื่องจากบัญชีมีการให้ข้อมูลที่เป็นจริง ทำให้เกิดความโปร่งใสในด้านตัวเลขที่เป็นผลการค้าและกำไร ซึ่งแต่ละธุรกิจก็จะไม่ต้องเข้าสู่การประเมิน ตรวจสอบ ไต่สวน หรือ คำสั่งที่เกี่ยวข้องใด ๆ เนื่องจากไม่มีการส่อถึงการหลบเลี่ยงภาษี

นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ภายใต้มาตรการพิเศษของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำโครงการ "เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน" ขึ้น โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจ โดยเน้นการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจและเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจากหลักฐานบัญชีเล่มที่ใช้ยื่นต่อกรมสรรพากรเท่านั้น


thumbnail_ภาพบรรยกาศเยี่ยมชมบูธ

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น กำหนดจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศแนะนำโครงการทั้งหมด 15 ครั้ง ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สงขลา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่า เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะมีไม่น้อยกว่า 3,500 ราย พร้อมเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญ เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีชุดเดียวและนำไปปฏิบัติใช้ในองค์กรได้จำนวนไม่น้อยกว่า 300 กิจการ นอกจากนี้ยังคาดว่าจะสามารถมีรายได้เข้าสู่ระบบประมาณ 600 ล้านบาท และส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและเงินภาษีเหล่านั้นจะนำกลับมาพัฒนาประเทศได้ต่อไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก