ผวา "กฎใหม่อียู" ทุบเกษตร! ส่งออก 1.6 แสนล้านสะเทือน หวั่นข้าวสูญ 3 แสนตัน

04 พ.ย. 2561 | 03:51 น.
ไทยผวากฎใหม่อียูกระทบส่งออกสินค้าเกษตร 1.6 แสนล้าน! 'ข้าว' เครียด! เกณฑ์สารตกค้างใหม่มาตรฐานสูงลิ่ว หวั่นเสียตลาด 3 แสนตันต่อปี ด้าน 'ประมง' เคว้ง! คาดคงใบเหลืองต่อ ขณะสงครามการค้าทุบส่งออกไม้ยางไทยไปจีนวูบ 50%

สหภาพยุโรป (อียู) เป็นหนึ่งในคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปี 2560 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกับอียู 1.6 แสนล้านบาท โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, เครื่องดื่ม และผัก-ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป แต่นับจากนี้สินค้าเกษตรไทยมีความเสี่ยงจากการถูกกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น


ผัก

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กฎระเบียบใหม่ของอียูในการผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ผ่านการรับรองแล้ว และจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการผลิตแบบอินทรีย์ รับประกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ป้องกันการปลอมแปลงและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ส่วนใหญ่ตลาดอินทรีย์จะเป็นกลุ่มข้าวและผัก ปัจจุบันไทยยังมีปริมาณส่งออกไม่มากนัก และยังมีเวลาปรับตัว 2 ปีข้างหน้า


TP8-3415-B

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า กฎระเบียบใหม่ของอียูในส่วนของข้าว จะคุมเข้มการใช้สาร Tricyclazole เป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดโรคใบไหม้และโรคใบจุด ซึ่งหากเกษตรกรใช้อย่างขาดความระมัดระวังจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในคน จากเดิมกำหนดมาตรฐานที่ระดับ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้เหลือระดับตํ่าที่สุดเท่าที่เครื่องสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ (LOD) ที่ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือแทบจะไม่มีเลย ก่อนหน้านี้เคยนำตัวอย่างข้าวไปตรวจแล้ว ปรากฏไม่ผ่านเลย ที่ผ่านมาได้นำเสนอกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทราบปัญหานี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องให้เกษตรกรได้เรียนรู้ว่าสารเคมีตัวนี้ไม่ควรใช้ เพราะอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะบังคับใช้ ส่งออกข้าวไทยไปอียูปีละกว่า 3 แสนตัน อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งตลาดอียูเป็นตลาดข้าวเกรดคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็นหลัก


มัน1

แหล่งข่าวจากศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เผยว่า ผลการประเมินของอียูน่าจะคงสถานะใบเหลืองไทยต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาทางคณะได้ไปพบเรือต่างชาติสัญชาติจีนที่เข้ามาจอดเทียบท่า ไม่รู้เข้ามาได้อย่างไร อีกด้านก็ไปพบเรือประมงพื้นบ้านที่ไปออกทำการประมงเกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงทำให้รัฐบาลไทยจะต้องกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติมในเรื่องของการจัดระเบียบประมงพื้นบ้านใหม่

ขณะที่ นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มโรงเลื่อยและโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่งผลทำให้ตลาดไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไม้เดียวของไทย คือ จีน ยอดสั่งซื้อช่วง 9 เดือนปีนี้ ได้ลดลงไปกว่า 50% จากปีที่แล้วยอดส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทน ทั้งนี้ ไทยจะต้องเร่งทำมาตรฐาน "FSC (Forest Stewardship Council)" ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น อียู ญี่ปุ่น และหลาย ๆ ประเทศได้ประกาศใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา จึงทำให้ไทยถูกแบนในตลาดอื่นมา 4 ปีแล้ว แต่หากทำได้ตามมาตรฐาน คาดจะช่วยเพิ่มส่งออกได้มากถึงแสนล้านบาท


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,415 วันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว