ศึกแย่ง‘นักบิน’ปะทุ ผลิตไม่ทันดีมานด์ทะลัก 5 แสนคน

01 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
ปัญหาการขาดแคลนนักบินมิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในเมืองไทย แต่กำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลกสืบเนื่องจากอัตราการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำที่ขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกจึงมีการสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมหาศาล จากการประเมินของ 2 ค่ายผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ทั้งโบอิ้งและแอร์บัส ระบุว่าขณะนี้มีคำสั่งซื้อเครื่องบินแล้วร่วม 6 พันลำ และคาดการณ์ว่าจะมีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 1.9 หมื่นลำจากนี้ไปอีก 15 ปีข้างหน้า

[caption id="attachment_34351" align="aligncenter" width="600"] ความต้องการนักบินใหม่แบ่งตามภูมิภาคปี 2558 - 2577 ความต้องการนักบินใหม่แบ่งตามภูมิภาคปี 2558 - 2577[/caption]

ส่งผลให้ความต้องการนักบินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เว็บไซต์บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่างโบอิ้งออกมาคาดการณ์ว่าในปี 2558-2577 จะมีความต้องการนักบินใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5.58 แสนคน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการสูงสุดถึง 2.26 แสนคน รองจากยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลางตามลำดับ โดยคิดจากเครื่องบิน 1 ลำ มีความต้องการใช้นักบินหมุนเวียนกันเฉลี่ย 14.5 คนหรือในราว 15 คน แต่บางสายการบินก็มีมาตรฐานที่สูงกว่านั้น อย่างการบินไทยมีอัตราเฉลี่ยการใช้นักบินอยู่ที่ 17 คนต่อเครื่องบิน 1 ลำ

"การบินไทยมีเครื่องบิน 90 ลำ จำนวนนักบิน 1.7 พันคน ถ้ามีการสั่งซื้อเครื่องบินในอีก 15 ปีอีก 2.5 หมื่นลำ ก็แสดงว่าต้องการนักบินกว่า 5 แสนคน ที่เป็นนักบินใหม่ และถ้าปล่อยให้โตตามปกติจะผลิตนักบินได้เพียง 9หมื่น-1 แสนคนเท่านั้น แสดงว่ายังขาดอยู่กว่า 4 แสนคน " ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัดหรือบีเอซี โรงเรียนสอนนักบินพาณิชย์และอดีตกัปตันการบินไทยกล่าว

 ปลดธงแดงปะทุอีกรอบ

ฉะนั้นวิกฤติขาดนักบินในเมืองไทยที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างสู่ระดับโลกในไม่ช้านี้ ขณะที่ปัญหานักบินในประเทศขาดแคลนจริง ๆ เริ่มส่งสัญญาณเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หลังสายการบินในแถบตะวันออกกลางมีโหมสั่งซื้อเครื่องบินกันยกใหญ่ นักบินไทยจึงถูกสายการบิน กาตาร์ แอร์เวย์ เอมิเรตส์ เอทิฮัด ซื้อตัวไปเป็นจำนวนมาก บางสายถึงกับลงทุนบินมาเปิดโรงแรมรับสมัครกันถึงกรุงเทพฯ จากก่อนหน้านั้นจะให้ตั๋วบินไปสัมภาษณ์ที่ตะวันออกกลาง และมีเป้าหมายที่นักบินของสายการบินไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ช่วย-นักบิน (โค-ไพรอต) อายุงาน 5-7 ปี มีชั่วโมงบิน 3 พันชั่วโมงจะเกิดปัญหาสมองไหลมากที่สุด

โดยมีแรงจูงใจเป็นผลตอบแทนที่อู้ฟู่พร้อมกับข้อเสนอโปรโมตเป็นกัปตันเร็วกว่าอยู่การบินไทยที่ต้องบิน 8-10 ปีกว่าจะได้จ่อคิวสอบเป็นกัปตันแถมยังต้องแย่งชิงกับเส้นสายอีกต่างหาก เงื่อนไขนี้จึง วิน วิน ทั้ง ตัวนักบินและสายการบินที่ไม่ต้องเสียเวลาฝึก และเก้าอี้กัปตันก็เป็นความฝันใฝ่ของนักบินทุกคน ขณะนี้แม้จะหยุดรับไปชั่วขณะหลังประเทศไทยถูกปักธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แต่เชื่อว่าหลังจากปลดธงแดง การซื้อตัวนักบินข้ามชาติคงจะระอุอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธ อาทิ ค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติลูก รักษาพยาบาลทั่วโลกไม่จำกัด บัตรสมาชิกเข้าใช้สิทธิ์ในสโมสรหรูทั่วโลก วิลล่าหรู รายได้รวมเพิ่มขึ้นเท่าตัวร่วม 7 หลักต่อเดือน สำหรับกัปตันมือใหม่และมือเก๋า ไปจนได้สิทธิพิเศษในการเป็นเจ้าของรถสปอร์ต ปอร์เช่ ก็ยังอยู่ในแพ็กเกจ แถมยังรับรายได้กันเนต ๆ เพราะไม่ต้องจ่ายเสียภาษี แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ชีวิตอยู่ในกลางทะเลทราย บางคนไปแล้วก็อยู่ไม่ได้ขอกลับมาก็มี

 ขาดนักบินเพิ่มไฟลต์ไม่ได้

วิกฤตินักบินได้เริ่มเห็นชัดขึ้นอีกครั้งจากความขัดแย้งของนักบินกับฝ่ายบริหารสายการบินนกแอร์ปะทุขึ้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เที่ยวบินของนกแอร์ต้องถูกยกเลิกตั้งแต่กลางเดือนยาวมาถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนนักบินอย่างหนัก กระทั่งต้องดึงตัวนักบินต่างชาติจากค่าย โบอิ้ง 12 คน เข้ามาแก้ขัด รวมกับรับนักบินใหม่อีกจำนวนหนึ่งเข้ามาเสริมฝูงบิน

พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ก็ออกมายอมรับเหตุการณ์เมื่อวันวาเลนไทน์ว่าเพราะนักบินหยุดพร้อมกัน 5-6 คนทำให้ไม่สามารถหาคนมาบินได้ โดยนกแอร์มีนักบินทั้งหมด 130 คน และจะมีนักบินเพิ่มขึ้นอีก 20 - 30 คนในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ และสายการบินก็ต้องลดเที่ยวบินอีก 10 - 15 % ในเดือนเมษายนนี้

ขณะที่กูรูด้านวงการบิน ระบุว่า การที่นกแอร์ไม่สามารถหานักบินสำรองได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนกแอร์มีนักบินอยู่อย่างจำกัด และทุกคนเวลาบินเต็มที่ตามกฎหมายกำหนดไม่เกิน 1 พันชั่วโมงบินต่อปีหรือเฉลี่ยราว 80 ชั่วโมงบินต่อเดือน ซึ่งถ้าหากบินมีชั่วโมงบินเต็มที่ก็ไม่สามารถทำการบิน อีกทั้งก่อนหน้านั้นนักบินของนกแอร์ยังถูกซื้อตัวจากสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เป็นจำนวนมาก เพราะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 รุ่นเดียวกัน

 แย่งนักบินปัญหาแก้ไม่จบ

"เมื่อนักบินของสายการบินหนึ่งถูกซื้อตัว อีกสายการบินหนึ่งก็จะขาดแคลนเกิดปัญหาเป็นงูกินหางแก้กันไม่รู้จบ เพราะเราไม่สามารถผลิตนักบินได้ทันกับความต้องการ ของการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ และเพิ่มเที่ยวบินตามตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสายการบินต้นทุนต่ำมีความจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนใช้เครื่องบินให้มากที่สุด สวนทางกับการผลิตนักบินที่ต้องใช้เวลา อีกทั้งคนที่มีคุณสมบัติจะเป็นนักบินได้ก็มิใช่เรื่องง่ายแม้ผลตอบแทนจะงามมากก็ตาม" กูรูด้านการบินชี้ถึงปัญหา

นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นเพราะบางสายการบินไม่มีการลงทุนเรื่องบุคลากรทางด้านการบิน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2.5 - 3 ล้านบาทกว่าจะฝึกคนมาเป็นนักบินได้ 1 คน ยิ่งเป็นสายการบินขนาดเล็กซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหนก็คงไม่กล้าลงทุนผลิตนักบินเป็นของตัวเอง การซื้อตัวจึงเป็นวิธีลัดที่สายการบินเกิดใหม่นิยมใช้กัน

"การซื้อตัวนักบินเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ยิ่งเป็นนักบินที่บินเครื่องบินรุ่นเดียวกัน ซื้อตัววันนี้ วันรุ่งขึ้นก็บินได้ทันที โดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่าเป็นแรงจูงใจ ส่วนความรุนแรงและขาดแคลนจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าสายการบินจะมีการขยายเส้นทางบินใหม่ ๆ มากน้อยแค่ไหน" กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทยให้ความเห็น

 ค่าตัวพุ่งทันที 1 แสนบาท

ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ซื้อตัวนักบินในประเทศจึงไม่ต่างจากสายการบินต่างชาติ นักบินผู้ช่วยการบินไทยร่วม 130 คน หันไปซบอกสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะทำให้มีรายได้เพิ่มทันที 1 แสนบาทจากการโปรโมตขึ้นไปเป็นกัปตัน และยังลามไปถึงการซื้อตัว นักบินจากกองทัพเรือกองทัพอากาศ ที่องค์กรหลังนี้มีการยืมตัวนักบินกันเป็นประจำอยู่แล้ว รวมตัวเลขรายได้เบ็ดเสร็จ เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าแลนดิ้ง รวมกันแล้วราว 3-4 แสนบาทต่อเดือนเป็นตัวกระตุ้น

ขณะเดียวกันแม้หลายสายการบินลงทุนผลิตนักบินขึ้นมาเอง อาทิ สายการบินไทยแอร์เอเชีย จะมีการวางแผนผลิตนักบินเอง โดยมีการเซ็นสัญญากับสถาบันการศึกษาผลิตนักบินใหม่เป็นเวลา 5 ปี ปีละ 90-120 คน เพื่อรองรับการขยายเที่ยวบินในอนาคต การบินไทย ไทยสมายล์ มีการลงทุนผลิตนักบินอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน ขณะที่สถาบันการบินพลเรือน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยรังสิต เอแบค สถาบันการบินพลเรือน รวม ๆ แล้วแต่ละปีจะผลิตนักบินใหม่ได้ราว 300 คนเท่านั้น ซึ่งไม่พอกับการเติบโตของธุรกิจการบินที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนี้

การขาดแคลนนักบินจะบานปลายเป็น"ระเบิดเวลา" ลูกใหม่ของธุรกิจการบินไทยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบหรือแค่ไฟไหม้ฟาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559