เกษตรแปลงใหญ่ทำได้ไหม?

28 ก.พ. 2559 | 14:00 น.
เรื่องน่าห่วงสำหรับผู้บริโภคในปีนี้ก็เหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา คือ สถานการณ์การผลิตแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผลผลิตจากการเกษตรกรที่ขาดความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ มุ่งผลิตพืชผักที่เติบโตด้วยสารเคมีและพ่นด้วยยาฆ่าแมลง จึงทำให้การอุปโภค บริโภคมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมี รวมถึงอาจได้รับสารเคมีจากสิ่งแวดล้อมด้วยรวมๆ แล้วมีประมาณ 15,000 ชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

การบริโภคสัตว์น้ำบางชนิด อาทิ ปลาหมึกจากทะเล หากอยู่ใกล้กับตลาดหน้าท่าจะรับประทานอย่างปลอดภัยมากกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร เพราะจะใช้สารเคมีช่วยถนอมอาหารไม่ให้บูดเน่า ใครรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน สารเคมีก็จะสะสมในร่างกายและสุขภาพจะแย่ลงในท้ายที่สุด

กว่า 20 ปีมาแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นวิทยากรแนะเกษตรกรไทยให้หันไปปลูกพืชเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก ทั้งๆ ที่ไทยในอดีตก็รู้จักและทำการเพาะปลูกแบบนี้มายาวนานแล้วตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ มาจนกระทั่งอุตสาหกรรมเคมีเจริญเติบโต ความต้องการบริโภคสูงขึ้น การเพาะปลูกจึงต้องการใช้สารเคมีช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยการใส่ปุ๋ย ปลูกพืชบำรุงดิน ใช้สารหรือใช้ยาฆ่าแมลงที่ผลิตจากการใช้สารเคมีฉีดพ่น ซึ่งช่วงแรกที่คนไทยวกกลับไปใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่เด่นชัดก็คือ แถบจังหวัดระยอง แต่ก็ไม่โด่งดังเท่าแปลงเกษตรที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำเป็นกิจจะลักษณะ มีระบบตรวจสอบย้อนหลังได้

10 ปีให้หลังมานี้แปลงเกษตรอินทรีย์จากอำเภอวังน้ำเขียวส่งผักสดถึงบ้านในเขตจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร ต่อมาเกษตรกรวังน้ำเขียวก็ปลูกผักหลากชนิดมากขึ้นด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ อาทิ คอส บัตเตอร์เฮด เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก เรดลีฟ ผักกาดแก้ว มะเขือเทศ กะหล่ำปลีม่วง และเบบี้แครอท เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บริโภคจะซื้อมารับประทานต้องมั่นใจว่าเป็นพืชเกษตรอินทรีย์จริง ราคาแม้จะสูงกว่าเล็กน้อยแต่เพื่อสุขภาพก็ต้องยอมจ่าย

เมื่อปีที่แล้วผมไปเมืองจีนมาและไปในเขตชนบทด้วย คนจีนเขาปรับตัวเร็วมาก เต็มไปด้วยแปลงพืชผักกางมุ้ง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง และแน่นอนเกษตรกรก็ยังใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามเดิม แม้ว่าปุ๋ยเคมีก็แทรกเข้าไปในพื้นที่แล้ว แต่ที่เห็นเขาก็ไม่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีสักเท่าไหร่ และแปลกไปยิ่งกว่านั้นเกษตรกรกลับหันไปปลูกพืชไร่จีเอ็มโอหรือพืชตัดแต่งพันธุกรรม เพราะไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง

ที่ชนบทแถบภาคใต้ของฝรั่งเศสหรือแถบโพรวองซ์ โรงแรมหรือที่พักมักผูกกับแปลงเกษตรแบบเจาะจง เขาต้องการสินค้าพืชผักที่ไว้ใจได้ หรือบางแห่งก็มีแปลงผักของโรงแรมเอง ปลูกพืชชนิดสมุนไพรไว้ปรุงอาหาร และแน่นอนเขาปลอดสารพิษ สำหรับประเทศไทยเด่นๆ ก็มีโครงการหลวงที่ส่งตรงพืชผักสดสู่ผู้บริโภคแบบปลอดสารพิษ

ปัจจุบันผมว่า กระแสออร์แกนิก หรือเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นทิศทางใหม่ที่มาแรงมากๆ คนไทยใส่ใจที่จะเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีเกษตรกรบางกลุ่มใช้วิธีดั้งเดิมในการเพาะปลูก คือ ใช้ม้าลากผลาญไถ กลิ่นไอตะวันตกโชยออกมาเลยทีเดียว บางกลุ่มก็ปฏิเสธที่จะปลูกพืชจีเอ็มโอเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ต้นแบบก็มาจากประเทศนี้

ไทยกำลังปลุกปั้นการทำการเกษตรแปลงใหญ่เหมือนกับโลกตะวันตก โดยรวมแปลงเกษตรกรแปลงเล็กๆ หลายแปลงให้เป็นแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผมว่าน่าจะลองเสี่ยงดูนะครับ ทำให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์แท้ๆ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยสารเคมี ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ผลผลิตที่ได้ออกมาก็จำหน่ายในราคาที่มีกำไร แม้ราคาขายอาจจะสูงกว่า แต่หากผู้บริโภคทราบเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการเพาะปลูก รวมทั้งเจตนาดีของเกษตรกรต่อผู้บริโภคแล้ว ผมเชื่อว่าเกษตรแปลงใหญ่จะไปรอดได้ และหากทำกันอย่างแพร่หลาย คนไทยจะป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชลดน้อยลงไปบ้างครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559