'ดิวตี้ฟรี' ปรอทแตก! ทุนใหญ่ไทย-เทศแห่ชิงเค้ก

01 พ.ย. 2561 | 07:59 น.
011161-1456

บิ๊กทุนไทย-เทศ! 'เซ็นทรัล' ผนึก 'ดีเอฟเอสชางงี' ... บางกอกแอร์เวย์, เดอะมอลล์, ไมเนอร์, ล็อตเต้, เจ้าเก่าคิงเพาเวอร์ ตบเท้าซื้อซองชิงดิวตี้ฟรี-รีเทลอู่ตะเภา อุ่นเครื่องก่อนเจาะขุมทรัพย์สนามบินสุวรรณภูมิ

เป็นที่จับตา หลังสิ้นเจ้าสัว "วิชัย ศรีวัฒนประภา" อาณาจักร 1.6 แสนล้านบาท จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจใน "กลุ่มคิงเพาเวอร์" ตกอยู่ที่ทายาทรุ่น 2 โดยเฉพาะ "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ซึ่งถูกวางให้เข้ามาบริหารธุรกิจคิงเพาเวอร์มาตั้งแต่ปี 2559 ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และภารกิจใหญ่อยู่ที่สัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะหมดสัญญาในวันที่ 27 ก.ย. 2563 อีกทั้งคิงเพาเวอร์ยังได้ซื้อซองเตรียมยื่นประมูลดิวตี้ฟรีและรีเทลสนามบินอู่ตะเภาอีกด้วย

 

[caption id="attachment_340826" align="aligncenter" width="503"] วิชัย ศรีวัฒนประภา วิชัย ศรีวัฒนประภา[/caption]

แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพเรือ (ทร.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้สนามบินอู่ตะเภาอยู่ระหว่างการเปิดประมูลโครงการดิวตี้ฟรีและรีเทล พื้นที่ราว 2 พันตารางเมตร ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่จะรองรับผู้โดยสารได้ 3-5 ล้านคน โดยมีอายุสัญญา 10 ปี มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท เอกชนต้องจ่ายผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 12% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย หรือ รายได้ขั้นต่ำที่เอกชนเสนอขึ้นมา

"ขณะนี้มีเอกชนสนใจซื้อซองประกวดราคาแล้ว 7 บริษัท และจะเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 7 พ.ย. นี้ คาดว่าจะได้ผู้ดำเนินการภายในสิ้นปีนี้ โดยจะไม่รวมจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี หรือ Pick Up Counter ที่ทางสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นผู้ดำเนินการเอง"

สำหรับเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรีมี 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2.Central DFS Consortium 3.ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) 4.บางกอก แอร์เวย์ส โฮลดิ้ง และ 5.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในส่วนพื้นที่รีเทลมีผู้มาซื้อซอง 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2.Central DFS Consortium 3.เดอะมอลล์ กรุ๊ป 4.บริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล : SSP International บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินในหลากหลายประเทศ) 5.บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง 6.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 7.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด


kpipk_pics_021-1

ทุนสิงคโปร์-เกาหลีแห่ชิง
"การที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่สนใจเข้าประมูลในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การเปิดประมูลดิวตี้ฟรีและรีเทลสนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มทุนเหล่านี้จะต้องเข้าร่วมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะทุนต่างชาติที่เข้ามาร่วมกับทุนไทย อาทิ เซ็นทรัลที่ร่วมกับดีเอฟเอส สิงคโปร์ ซึ่งบริหารสนามบินชางงี ก็สนใจเข้าประมูล , กลุ่มดิวตี้ฟรีเกาหลีอย่าง ล็อตเต้ ก็เข้าประมูลแน่นอน หลังจากเตรียมการมาระยะหนึ่ง ซึ่งเจ้าของสัมปทานเดิม คิงเพาเวอร์ต้องเจอคู่แข่งขันที่น่ากลัวด้วยเช่นกัน"

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) : ทอท. ระบุว่า


ส่งอัยการตีความรวม T2
"ทอท. จะนำร่างทีโออาร์การประมูลรอบใหม่นี้เสนอบอร์ดพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อได้ข้อสรุปจากอัยการสูงสุด ซึ่ง ทอท. ได้ทำหนังสือหารือในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องโครงการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศเหนือของสนามบิน เนื่องจากมีผู้คัดค้าน หากได้ข้อสรุปก็จะบอกได้ว่าจะสามารถนำพื้นที่ในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ มาร่วมประมูลพร้อมกับพื้นที่ที่คิงเพาเวอร์ที่จะหมดสัญญา พร้อมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ด้วยหรือไม่"


05-BIRD-NIGHT_FINALbyD

ด้านแหล่งข่าวจาก ทอท. ให้รายละเอียดว่า หากอัยการสูงสุดได้ข้อสรุปเรื่องอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทอท. ก็จะนำร่างทีโออาร์การเปิดประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่รีเทล เสนอบอร์ดในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อเริ่มกระบวนการการเปิดประมูล ครั้งนี้จะเป็นพื้นที่ล็อตใหญ่ในรอบ 10 ปี ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5.3 หมื่นตารางเมตร มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท โดยจะรวมพื้นที่สนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่เข้าไปด้วย

"การประมูลครั้งนี้จึงไม่เพียงมีผู้ประกอบการคนไทย อย่าง คิงเพาเวอร์, เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, ไมเนอร์ ที่สนใจเหมือนทุกครั้งเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นรายใหม่ อย่าง บางกอกแอร์เวย์ส ที่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารมอร์แดนฟรี ซึ่งเป็นธุรกิจดิวตี้ฟรีเล็กในสนามบินอู่ตะเภาในอดีต รวมถึงดิวตี้ฟรีจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ล็อตเต้, Shilla Duty Free ของเกาหลีใต้ ที่เข้ามาเปิดธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีในไทยเตรียมไว้แล้ว"


20150826101013

ซีพี-แฟมิลี่มาร์ท ร่วมวง
นอกจากการเปิดชิงพื้นที่ดิวตี้ฟรีและรีเทลที่อู่ตะเภาและสุวรรณภูมิแล้ว สนามบินภูมิภาคอีก 24 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ก็จะทยอยเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. นี้ โดยสนามบินแม่สอด พื้นที่ราว 1 พันตารางเมตร และสนามบินอุบลราชธานี พื้นที่ราว 2 พันตารางเมตร โดยจะประมูลเป็นล็อก ๆ กำหนดเอกชนแต่ละรายไม่เกิน 2 ล็อก

"ที่ผ่านมา ทย. ได้รับการติดต่อจากบิ๊กธุรกิจที่สนใจจะเข้าร่วมประกวดราคา อาทิ โซนที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ทางเซเว่นอีเลฟเว่นของซีพี กลุ่มแฟมิลี่มาร์ทก็สนใจ ธุรกิจอาหารก็มีทั้งกลุ่มไมเนอร์และเซ็นทรัลที่สนใจ และ ทย. จะทยอยเปิดประมูลให้ครบทั้ง 24 สนามบิน"


รายได้ 1.13 แสนล้าน ปี 60
ทั้งนี้ กลุ่มคิงเพาเวอร์มีรายได้จากการประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีในปี 2560 รวม 113,247 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,954 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีของกลุ่มคิงเพาเวอร์ในปัจจุบันจะมีรายได้จากร้านค้าปลอดอากรในเมืองมากกว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินหลัก อีก 4 แห่ง โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง 3 แห่ง มีรายได้รวมในปี 2560 จำนวน 56,151 ล้านบาท กำไร 3,944 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากร จำนวน 49,970.75 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้รับสัมปทานจากการท่าอากาศยานไทย ให้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและอากรภายในท่าอากาศยานหลัก มีรายได้รวมในปี 2560 ทั้งสิ้น 35,633 ล้านบาท กำไร 1,838 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากร 33,954.17 ล้านบาท


P1-line-3414

2 ปี ปันผล 1.5 หมื่นล้าน
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตระกูล "ศรีวัฒนประภา" ได้รับเงินปันผลจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ทั้งสิ้น 15,700 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินปันผลจาก บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำนวน 10,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 2 ครั้ง จำนวน 6,900 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 3,800 ล้านบาท และเงินปันผลจาก บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จำนวน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ปี 2559 จำนวน 2 ครั้ง วงเงิน 3,600 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 1 ครั้ง วงเงิน 1,400 ล้านบาท

หลังจากนี้ไม่เพียงคิงเพาเวอร์จะต้องช่วงชิงการประมูลดิวตี้ฟรีและรีเทลภายในสนามบินหลักเท่านั้น "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ยังมีภารกิจที่จะขับเคลื่อนแผน 5 ปี ของคิงเพาเวอร์ โดยได้วางเป้าหมายผลักดันธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ก้าวสู่ท็อป 5 ในธุรกิจปลอดอากรระดับโลกภายใน 5 ปี จากที่อยู่ระดับ 7 ของโลก ซึ่งมียอดขายห่างจากอันดับ 6 อยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิงเพาเวอร์ตั้งเป้าการเติบโตปีละ 20% ภายใน 5 ปีนี้ ก็จะทำให้สามารถมีรายได้ในธุรกิจดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 1.3-1.4 แสนล้านบาทได้ รวมทั้งแผนลงทุนขยายจำนวนที่นั่งในสนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์เพิ่มอีกราว 1 หมื่นที่นั่ง จาก 3.2 หมื่นที่นั่ง เป็น 4.2 หมื่นที่นั่ง หากได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของเมืองเลสเตอร์เมื่อไหร่ ก็พร้อมลงทุนทันที และการนำเลสเตอร์ซิตี้ยืดหยัดอยู่ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ


492921

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,414 วันที่ 1 - 3 พ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คืนแวตในเมืองบูมค้าปลีกแนะสรรพากรเร่งแก้ปม-เพิ่มดิวตี้ฟรีสู้ศึกอาเซียน
ฐานโซไซตี : ขาใหญ่ไทย-เทศ  ผนึกชิงพื้นที่ "ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ"

เพิ่มเพื่อน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก