ภาครัฐอัดงบช่วยเอกชน 200 ล้าน กระตุ้นเปลี่ยนใช้เชื้อเพลิงอัดแท่ง

02 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
พพ.เตรียมอัดงบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 200 ล้านบาท ดึงผู้ประกอบการ 100 ราย ลงทุนเปลี่ยนเชื้อเพลิงบอยเลอร์จากน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ชู 2 มาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเงินทุนช่วยผู้ประกอบการรายละ 2 ล้านบาทเปลี่ยนอุปกรณ์หม้อไอน้ำ

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พพ.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในภาคการผลิต เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งแทน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในประเทศ และลดการนำเข้าน้ำมันเตาด้วย โดยจะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 200 ล้านบาท ในการดำเนินงาน

สำหรับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งนี้ ทาง พพ.จะคัดเลือกหม้อไอน้ำ(บอยเลอร์) ขนาดไม่เกิน 10 ตัน เพื่อทำเป็นโครงการนำร่องในปีนี้ 100 ราย จากปัจจุบันที่มีบอยเลอร์ทั้งสิ้น 4 พันลูก หรือจะใช้งบจากกองทุนฯส่งเสริมรายละ 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง แม้ว่าจะมีขี้เถ้าเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนเชื้อเพลิงลงกว่าครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

"การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ต้องลงทุนเปลี่ยนหัวเผา ต้องมีเทคโนโลยี ซึ่ง พพ.ต้องใช้งบจากกองทุนอนุรักษ์ฯเข้ามาส่งเสริม โดยเชื่อว่าจะทำให้มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่งออกไปขายในต่างประเทศจำนวนมาก และเตรียมขยายการส่งเสริมเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามการใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.พลังงานทดแทน มาตรา 25 กำหนดให้สามารถนำมาใช้ด้านพลังงานสีเขียวได้" นายธรรมยศ กล่าว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปีนั้น ทางกระทรวงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยและนำร่องก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งขึ้นมา โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ อาทิ เปลือก ลำต้น ใบ และซังข้าวโพด มาทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซแอลพีจี และน้ำมันเตาในภาคอุตสาหกรรม

โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากของเหลือใช้จากข้าวโพด ( Corn Pellet )ที่ผลิตได้ มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูง ขี้เถ้าน้อย และต้นทุนไม่สูงมากเกินไป ที่สำคัญ สามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดในพื้นที่โล่งของ อ.แม่แจ่ม ได้ถึง 2 พันตันต่อปี ช่วยลดฝุ่น และทำให้คุณภาพอากาศโดยรอบดีขึ้น

นอกจากนี้กระทรวง จะมีการขยายผลพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซแอลพีจีและน้ำมันเตา เพื่อลดต้นทุนพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และในอนาคต หากสามารถขยายผลใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้ ก็จะสามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดได้มากถึง 5.85 แสนตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ ก๊าซแอลพีจีและน้ำมันเตาในปัจจุบัน หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแทนนั้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการใน 2 มาตรการ ได้แก่ 1. สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน และ 2. สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเปลี่ยนเฉพาะหัวเผาหม้อไอน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดได้ โดยสนับสนุนในอัตรา 30% แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อแห่ง (นำร่อง 100 แห่งทั่วประเทศ) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559