บีโอไอดับฝันลงทุน5.67แสนล้าน ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ ตามนิยามใหม่

01 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
บีโอไอยันไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มประเภทกิจการคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ ที่อยู่ภายใต้ 6 นิยามใหม่ ชี้อยู่นอกเหนือกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริม หากไฟเขียวหวั่นคลัสเตอร์อื่นๆ เรียกร้องตาม ขณะที่ภาคเอกชนรองลุ้นบอร์ดบีโอไอ 29 กุมภาพันธ์นี้ จะมีวาระพิจารณาหรือไม่ กังวลเม็ดเงินลงทุน 5.67 แสนล้านบาทหาย หากภาครัฐไม่ให้ความสำคัญ

[caption id="attachment_34459" align="aligncenter" width="500"] แผนการลงทุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรจ่อสิ่งแวดล้อม แผนการลงทุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรจ่อสิ่งแวดล้อม[/caption]

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้มีการกำหนดกลุ่มประเภทกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามการส่งเสริมในรูปแบบคลัสเตอร์ขึ้นมาเพิ่มเติมภายใต้คำนิยาม 6 กลุ่มประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ประเภทกิจการ Finechemicals/Materials ที่เป็นเคมีภัณฑ์/วัสดุ ที่มีความบริสุทธิ์สูง หรือที่มีโครงสร้างเคมีเฉพาะเจาะจง 2.ประเภทกิจการ SpecialtyChemicals/Materials ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์/วัสดุ ที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่พิเศษ/ทางกายภาพที่พิเศษ และมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่าเคมีภัณฑ์/วัสดุทั่วไป รวมถึงเคมีภัณฑ์/วัสดุที่ได้จากการผสม/ควบรวมของเคมีภัณฑ์/วัสดุหลายชนิด ทำให้เป็นเคมีภัณฑ์/วัสดุ ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ 3.การลงทุนเพื่อลดภาวะทางสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นการลงทุนในหน่วยผลิตในโรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4.การลงทุนเพื่อปรับปรุงด้านเทคโนโลยี ที่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตใหม่ ขยายกำลังการผลิต การปรับปรุงอุปกรณ์ หรือหน่วยผลิตด้วยการรื้อและประกอบใหม่ และการเปลี่ยนอุปกรณ์หน่วยผลิต 5.อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชีวภาพ จากวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตร และ 6.กลุ่มประเภทกิจการอื่นๆ เช่น การลงทุนเพื่อพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี กิจกรรมสนับสนุนการผลิต โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์

โดยมอบหมายให้บีโอไอไปพิจารณาว่ากลุ่มประเภทกิจการดังกล่าวควรจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื่องจากจะก่อให้เกิดการลงทุนในช่วงปี 2559 อยู่ที่ 3.66 แสนล้านบาทและหลังปี 2559 อีก 2.01 แสนล้านบาท

นางหิรัญญา กล่าวอีกว่า การที่ภาคเอกชนเสนอแผนการลงทุนมาภายใต้คำนิยามของ 6 ประเภทกิจการนั้น ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือภายใต้ประเภทกิจการเป้าหมายที่บีโอไอจะส่งเสริม ซึ่งเป็นความต้องการของภาคเอกชนที่จะให้เกิดการลงทุนได้เร็ว โดยการขอรับสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ แต่บีโอไอเห็นว่ากลุ่มประเภทกิจการที่อยู่ภายใต้คำนิยามดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือกิจการเป้าหมายที่จะส่งเสริมคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ภาคเอกชนมีแผนจะลงทุนอยู่แล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท

แต่ทั้งนี้ จะต้องมาพิจารณาดูว่าประเทศต้องการเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 5.67 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ก็ต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสมเพราะหากพิจารณาให้ไปแล้ว ก็จะมีข้อเปรียบเทียบกับกลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากกลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ เข้ามาอีก

"การจัดทำแผนการลงทุนของภาคเอกชน ภายใต้คำนิยาม 6 กลุ่มประเภทกิจการนี้ ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือการส่งเสริมการลงทุนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอกชนมองว่าหากรัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนจำนวนมาก เอกชนก็พร้อมลงทุนเพิ่ม แต่ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ตามคลัสเตอร์ปิโตรเคมีด้วย แต่หากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเม็ดเงินการลงทุนก็จะลดลง ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องของภาคเอกชนที่มากเกินไป"

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ขอให้บีโอไอปรับเปลี่ยนประเภทกิจการเป้าหมาย ภายใต้คำนิยามใหม่ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลที่จะเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็วเพราะถือว่าเป็นการลงทุนต้นน้ำเพื่อมาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ตามเป้าหมายที่กำหนด หรือหากการลงทุนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภททั่วไปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การที่จะลงทุนผลิตปิโตรเคมีชนิดพิเศษก็ไม่สามารถที่จะต่อยอดต่อไปได้ด้วย

ทั้งนี้ หากทางบีโอไอไม่พิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของภาคเอกชนที่ต้องชะลอการลงทุนออกไป เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่จัดทำแผนการลงทุนขึ้นมาไม่ได้มีความเร่งรีบ แต่หากได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอก็สามารถเร่งรัดให้เกิดการลงทุนได้ ดังนั้น ในการประชุมบอร์ดบีโอไอในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ภาคเอกชนคงต้องติดตามว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ เพราะหากไม่ได้รับการสนับสนุนแผนการลงทุนดังกล่าวคงจะลดลงกว่าครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559