‘ทุ่งคา’เบนเข็มลงทุนเพื่อนบ้าน อุดความเสี่ยงเหมืองแร่ทองคำ

01 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
การประสบปัญหาการทำธุรกิจของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่ปี 2555 นำไปสู่การถอดถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่ง ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในช่วงปี 2558 พร้อมทั้งอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการที่บริษัทจะต้องปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2.88 พันล้านบาท และได้มีการเจรจาปรับลดหนี้จนเหลือ 520 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะมีการเพิ่มทุนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้

[caption id="attachment_34784" align="aligncenter" width="412"] วิจิตร เจียมวิจิตรชัยกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทุ่มคาฮาเบอร์ วิจิตร เจียมวิจิตรชัยกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ทุ่มคาฮาเบอร์[/caption]

พร้อมทั้ง ได้มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารเข้ามาใหม่ "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ วิจิตร เจียมวิจิตรชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ถึงการเข้ามาพลิกฟื้นบริษัท ทุ่มคาฮาเบอร์ หลังจากนี้ไปว่าจะมีทิศทางการดำเนินงานอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 เร่งจ่ายหนี้ให้หมดมี.ค.นี้

นายวิจิตร กล่าว่า ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการขณะนี้ได้มีการเจรจาปรับลดหนี้ลงมาเหลือ 450 ล้านบาทแล้ว ซึ่งตามแผนจะต้องเพิ่มทุน 1.17 พันล้านบาท ซึ่งได้มาแล้ว 500 ล้านบาท และภายในเดือนมีนาคมนี้จะเร่งเพิ่มทุนให้ได้ทั้งหมด เพื่อนำมาจ่ายหนี้ โดยตามแผนการใช้เงินเพิ่มทุนครั้งนี้ จะถูกนำมาใช้ใน 5 ส่วน ได้แก่ การชำระหนี้งวดแรก 100 ล้านบาท ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปของบริษัท 85 ล้านบาท เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทในเครือ รวมถึงโครงการอื่นๆ ของบริษัทในอนาคต เช่น การเพิ่มทุนในบริษัท ชลสิน จำกัด ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 73.67 % ประกอบธุรกิจโรงโม่บดย่อยหิน 380 ล้านบาท ใช้เป็นเงินเพิ่มทุนในบริษัท สกายคลิฟฟ์ จำกัด ที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์อีก 205 ล้านบาท และใช้เป็นเงินเพิ่มทุนในบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 95.955% อีก 400 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการเพิ่มทุนเสร็จสิ้น หากบริษัทไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจเหมืองแร่ทองทำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยได้ ก็จะนำส่วนเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน 400 ล้านบาทไปใช้หนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

 ขยายลงทุนเหมืองหินรับรถไฟ

สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้ไป ในปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 80-100 ล้านบาท ในการซื้อเครื่องจักรบดย่อยหิน ของเหมืองหินที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิต 1.5 หมื่นตันต่อเดือน ขณะที่สายการผลิตที่ 2 ได้มีการสั่งซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 2.5 หมื่นตันต่อเดือนแล้ว ส่วนสายการผลิตที่ 3 ที่ลงทุนเพิ่มขยายกำลังการผลิตอีก 5 หมื่นตันนั้น อยู่ระหว่างการขอประทานบัตรทำเหมืองหิน จากกระทรวงอุตสาหกรรม หากไม่ติดขั้นตอนทางด้านเอกสารและลงพื้นที่ตรวจสอบ คาดว่าก่อนเดือนมิถุนายนนี้น่าจะได้รับการอนุมัติได้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 7.5 หมื่นตันต่อเดือน

ทั้งนี้ การขยายกำลังการผลิตดังกล่าว เพื่อมารองรับความต้องการใช้หินในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ และรถไฟรางคู่ เป็นหลัก ซึ่งในด้านตลาดบริษัทไม่มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีผู้ผลิตหินชนิดพิเศษที่ใช้กับการก่อสร้างทางรถไฟไม่กี่ราย ประกอบกับการที่รัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างทางรถไฟสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และฉะเชิงเทรา-แก่งคอย ก็ทำให้ผู้รับเหมาลงนามสัญญาสั่งซื้อหินจากบริษัทแล้ว โดยมองว่า ในกำลังการผลิตหินที่เพิ่มขึ้นมา 5 หมื่นตันต่อเดือน จะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อปี

 เหมืองทองยังเปิดผลิตไม่ได้

ส่วนเหมืองแร่ทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งยังเปิดดำเนินการได้กว่า 1 ปีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอเช่าพื้นที่ต่อ หลังจากที่ได้หมดอายุไปเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ หากไม่อนุมัติทางบริษัทก็ไม่สามารถเข้าดำเนินการผลิตแร่ทองคำได้ จากปกติจะทำการผลิตแร่ได้ประมาณ 2 แสนตันต่อปี หรือสร้างรายได้ราว 700-800 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำเพิ่มอีก 2 แปลง กับกระทรวงอุตสาหกรรม รวมพื้นที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดทำการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง และคาดว่าในปีนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ครบทั้ง 3 ครั้ง
ก่อนยื่นเรื่องไปให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาประกอบการรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะได้รับการออกใบประทานบัตรทำเหมืองหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเร่งรัดให้เกิดการลงทุนหรือไม่ แต่หากมีการอนุมัติเกิดขึ้น ทั้ง 2 ส่วน ที่กล่าวมา จะทำให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจเหมืองทองได้อีก 6-7 ปี รวมรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่หากรัฐบาลยังรอนโยบายเหมืองแร่ทองคำของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะประกาศออกมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทางบริษัทก็ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อน

 เบนเข็มลงทุนเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รออยู่นี้ บริษัทพยายามที่จะหันไปลงทุนทำเหมืองแร่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและสปป.ลาวแทน เพราะการทำเหมืองแร่ในประเทศมีขีดจำกัด และอุปสรรคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเมียนมา ที่ขณะนี้ได้เริ่มต้นด้วยการเข้าไปรับจ้างบริษัท ซี มิเนอรับ เมียนมา จำกัด หรือเอสเอ็มเอ็มซึ่งเป็นพันธมิตรท้องถิ่นทำการขุดเหมืองแร่ดีบุก ขนาดพื้นที่ 126.5 ไร่ ในเมืองทวาย โดยบริษัทจะมีการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เบื้องต้นราว 12.1 ล้านบาท มีอายุสัญญา 3 ปี

โดยจะแบ่งกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกับเอสเอ็มเอ็ม ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้บริษัท จะเริ่มเข้าพื้นที่และจัดส่งทีมงานไปปักเขตแดนและคาดว่าภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้น่าจะรับรู้รายได้ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกอยู่ในระดับ 5 แสนบาทต่อตัน

ขณะที่การเข้าไปเป็นเจ้าของเหมืองเองในประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะต้องรอความชัดเจนในการขอออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงกลางปีนี้ก่อน เพราะพันธมิตรที่จะร่วมลงทุนต้องการความชัดเจนและความมั่นคงของบริษัทที่จะร่วมทุนด้วย ซึ่งขณะนี้ในเมียนมาได้มีการเจรจาร่วมทุนที่จะเข้าไปลงทุนเหมืองดีบุกประมาณ 4-5 แห่ง และเหมืองพลวง 1 แห่ง แต่ละแห่งจะใช้เงินลงทุนราว 20-30 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบการลงทุนมีทั้งการร่วมทุนกับเหมืองที่ประทานบัตรอยู่แล้ว โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะถือหุ้นในสัดส่วน 60 % ขึ้นไป ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการขออนุญาตประกอบกิจการจากทางรัฐบาลเมียนมา และการลงทุนในรูปแบบที่เข้าไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เอง

ส่วนในสปป.ลาวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ในเหมืองแร่ทองแดง ถ่านหิน และเหมืองแร่ทองคำ โดยเหมืองแร่ต่างๆ ในสปป.ลาวได้มีใบประทานบัตรในการทำเหมืองอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งทีมงานเพื่อเข้าไปสำรวจปริมาณแร่สำรองว่าแต่ละเหมืองมีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำมากำหนดกรอบในการใช้เงินลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในการเข้าไปลงทุนหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว และหลังจากนั้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ น่าจะเข้าไปลงทุนได้

"การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านคงต้องดูกฎหมายว่า แต่ละประเทศกำหนดสัดส่วนให้ต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งหากกำหนดต่ำกว่า 50% คงต้องมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะไปลงทุนหรือไม่ด้วย ซึ่งในปีนี้จัดสรรงบที่จะลงทุนในต่างประเทศราว 150 ล้านบาท"

 ตั้งเป้ารายได้ปีนี้500ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในราว 500 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วน 65% ที่บริษัทได้ลงทุนในโครงการบ้านเดี่ยวในจังหวัดภูเก็ต จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ และอีก35% จะมาจากการขายหินชนิดพิเศษที่สระบุรี และในปีหน้า คาดรายได้จะขึ้นไป 800 ล้านบาท มาจากธุรกิจขายหินชนิดพิเศษ 50% ที่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม อสังหาริมทรัพย์ 30 % จากโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ และจะมาจากเหมืองที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอีก 20%

ดังนั้น หากบริษัทสามารถเดินตามแผนงานที่ตั้งเป้าไว้ได้ ก็จะช่วยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559