องค์กรเศรษฐกิจเร่งรัฐปฏิรูป ไอเอ็มเอฟแนะจี 20 ร่วมมือออกมาตรการกระตุ้น

01 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
ไอเอ็มเอฟ–โออีซีดี ประสานเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโตที่ชะลอตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก

นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศจี 20 ในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ว่ารัฐบาลควรผลักดันการปฏิรูปตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมกลุ่มประเทศจี 20 เมื่อปี 2557 ให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงคำมั่นในการลดความซับซ้อนของกฎหมายและกระตุ้นการค้า การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยี โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการดำเนินการ

"ผู้ออกกฎหมายไม่จำเป็นต้องคิดวิธีการใหม่ๆ แต่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้เอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง" นางลาการ์ดกล่าว โดยการปฏิรูปจะต้องเกิดขึ้นในทุกด้าน ทั้งด้านการเงิน การคลัง และโครงสร้าง

สอดคล้องกับความเห็นของนายอังเกล เกอร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ที่กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ซึ่งการเติบโตยังชะลอตัวแม้จะผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายปี คือ การปฏิรูปโครงสร้างกลับเกิดขึ้นช้าลงในเวลาที่ควรจะเกิดอย่างรวดเร็วขึ้น

"เราอยู่ในปีที่ 8 หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก และเรายังไม่เติบโตได้ถึงระดับ 4% ที่เราทำได้ก่อนเกิดวิกฤติ ความรวดเร็ว ความต้องการ และความกล้าหาญในการปฏิรูปมีลดน้อยลงไป เราต้องเร่งมันขึ้นมาและทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ทำอยู่" นายเกอร์เรียกล่าวและเสริมว่า ธนาคารกลางทำได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้แล้ว เวลานี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนอีกครั้ง

โออีซีดี ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการปฏิรูปของกลุ่มจี 20 กล่าวผ่านรายงานว่า แม้จะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหลักๆ แต่ความรวดเร็วในการปฏิรูปอยู่ในระดับที่ช้าต่อเนื่องจากปี 2556-2557 มาจนถึงปี 2558 โดยการปฏิรูปในประเทศยุโรปใต้ เช่น อิตาลีและสเปน เกิดขึ้นรวดเร็วกว่ายุโรปเหนือ ขณะที่นอกยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเม็กซิโกเป็นผู้นำในการปฏิรูป

ขณะเดียวกัน รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และสถานการณ์ทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความตึงตัวมากขึ้น โดยผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน "พัฒนาการเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น"

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเสนอให้กลุ่มประเทศจี 20 ประสานความร่วมมือในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "จี 20 จะต้องวางแผนในเวลานี้เพื่อออกมาตรการสนับสนุนความต้องการร่วมกันโดยใช้พื้นที่ทางการคลังที่เหลือในการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ"

อย่างไรก็ดี นายแจ็ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก ปฏิเสธแนวคิดของการออกแผนการฉุกเฉินร่วมของกลุ่มจี 20 ในการประชุมครั้งนี้ โดยกล่าวว่านักลงทุนไม่ควรคาดหวังแผนการตอบโต้สภาวะวิกฤติเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่ใช่ภาวะวิกฤติ

ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.4% เมื่อเดือนมกราคม และเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดคาดการณ์ลงอีกครั้งในเดือนเมษายน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559