หวั่นหนี้เสียจีนป่วนการเงินโลก คาดสิ้นปี 2559 NPL แดนมังกรทะลุ 5 ล้านล้านดอลล์

01 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินและธนาคารเริ่มวิตกกันมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียในจีน ก่อนหน้านี้มีความหวั่นวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งส่งผลกดดันการเติบโตของตลาดโลกเช่นกัน แต่เมื่อมองลึกลงไป หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับระบบธนาคารของจีน ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารและบริษัทในธุรกิจด้านการเงินของจีนได้ปล่อยกู้ก้อนใหม่ๆรวมทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระคืนและกลายเป็นหนี้เสีย

[caption id="attachment_34789" align="aligncenter" width="503"] การก่อหนี้ของจีนระยะ 6 ปี การก่อหนี้ของจีนระยะ 6 ปี[/caption]

ชาร์ลีน ชู นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัย ออโตโนมัส รีเสิร์ช ในฮ่องกง เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้ ภาคการเงินของจีนจะมียอดเงินกู้รวมและมูลค่าตราสารการเงินอื่นๆรวมกัน 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 พันล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว "โลกไม่เคยพบเจอกับการขยายตัวของสินเชื่อในระดับมหาศาลเช่นนี้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี" ชาร์ลีนระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อราคาสินทรัพย์รูปแบบต่างๆในตลาดการเงิน นั่นเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรตลาดจึงมักอ่อนไหวต่อข่าวปัญหาด้านสินเชื่อหรือปัญหาด้านหนี้เสียในประเทศจีน

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวเลขหนี้เสียในจีนที่เห็นเผยแพร่ตามสื่ออาจจะไม่ใช่ขนาดที่แท้จริงของปัญหา ในส่วนของสถาบันวิจัย ออโตโนมัส รีเสิร์ชนั้น ประมาณการณ์ว่า สิ้นปี 2559 สัดส่วน 22 % ของเงินกู้และตราสารการเงินของจีน จะตกอยู่ในสภาพ "สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้" (nonperforming loan) ซึ่งหมายถึงสินเชื่อที่ลูกหนี้ค้างชำระหรือไม่สามารถชำระคืนได้ทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวข้างต้นนั้นคิดเป็นมูลค่ารวมราวๆ 6.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

[caption id="attachment_34792" align="aligncenter" width="487"] การก่อหนี้ของนักธุรกิจนอกภาคการเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว การก่อหนี้ของนักธุรกิจนอกภาคการเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว[/caption]

"ตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวนี้สมเหตุสมผล เราเคยเห็นสัดส่วนประมาณเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆมาแล้ว สิ่งที่แตกต่างอาจจะเป็นขนาดของหนี้เสียในจีนซึ่งมันสะท้อนยุคสินเชื่อเฟื่องฟูในระยะก่อนหน้านั้น" ชูกล่าวและประเมินว่า หนี้เสียที่เกิดขึ้นอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียที่แท้จริงราวๆ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับการประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์รายอื่นๆที่มองว่า หนี้เสียของจีนในสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนตัวเลขอย่างเป็นทางการนั้น ไม่มีการเปิดเผยจากหน่วยงานของจีนแต่อย่างใด

คริสโตเฟอร์ บอลดิ้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจ เอชเอสบีซี ในสังกัดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า จากการวิเคราะห์การชำระดอกเบี้ยขององค์กรธุรกิจเอกชนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ชี้ให้เห็นว่า 8 % ของเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยให้กับธุรกิจเอกชนอาจจะมีปัญหา แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นเพียงการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ตัวเลขจริงๆของสินเชื่อที่มีปัญหาอาจจะสูงมากกว่านี้ และคำถามที่ติดตามมาก็คือ รัฐบาลจีนมีมาตรการจัดการกับปัญหาหนี้เสียมูลค่ามหาศาลนี้อย่างไร

หลังยุคสินเชื่อเฟื่องฟูในทศวรรษ 1990 รัฐบาลจีนได้ให้ความสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือธนาคารชำระสะสางปัญหาทางการเงิน แต่ในวันนี้เนื่องจากตัวเลขการปล่อยกู้สูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การจะทุ่มงบช่วยอุ้มธนาคารเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียจึงต้องใช้เงินมหาศาล ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารต้องแบกรับภาระหนี้เสียก็ทำให้ความสามารถในการปล่อยกู้ลดลง ทำให้บริษัทเอกชนที่ต้องการเงินกู้อย่างแท้จริงและมีความสามารถในการชำระหนี้อาจจะต้องเสียโอกาส ซึ่งภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นตัวเหนี่ยวรั้งกระบวนการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559