แนะไทยต่อยอดโอกาสจีนปรับทัพ EIC ชี้ได้เห็นเงินทะลักเข้าไทย‘ซื้อกิจการ-ย้ายฐานผลิต’

02 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ แนะไทยปรับตัว-หาทางรับมือ-ปิดเสี่ยง ชี้จีนปรับทัพเศรษฐกิจยกระดับ "เทคนิคัลฮับ" คนชั้นกลางรวยขึ้น คาดปีนี้มีเม็ดเงินทะลักเข้าไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท เล็งซื้อกิจการ- ย้ายฐานการผลิต แข่งส่งออกไทยเสียเปรียบด้านต้นทุน ขณะที่ทิศทางหยวนยังอ่อนค่า เหตุทุกประเทศโดดเล่นสงครามค่าเงิน

[caption id="attachment_34831" align="aligncenter" width="409"] ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์  ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม และรักษาการคลัสเตอร์ส่งออก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์
ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม และรักษาการคลัสเตอร์ส่งออก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นางสาวธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม และรักษาการคลัสเตอร์ส่งออก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ EIC เปิดเผยว่าภายใต้การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีนตามแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ตั้งแต่ปี 2559-2563 ที่กำหนดจะเข้าสู่การเติบโตแบบ New Normal โดยลดความร้อนแรงจากช่วง 10ปีที่ผ่านมาเคยขยายตัวกว่า 2 หลักหรือเฉลี่ยการเติบโต 9%ต่อปีมาสู่การเติบโตเฉลี่ย 6.5-7% ต่อปีหลังจากนี้นั้น ซึ่งจะเห็นภาคการบริโภคและบริการในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 55%จากระดับ 41% ขณะที่ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวลดลง

แนวทางปรับตัวของจีน 3 ด้านหลักประกอบด้วย 1.การมุ่งขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศมากขึ้น(Growth Global) โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอุปโภคบริโภค ทั้งการเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้า หรือการซื้อกิจการในส่วนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร-เกษตรแปรรูป เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจที่สนใจในอุตสาหกรรมยางล้อ โซลาร์ แพลนเนอร์และกลุ่มภาคการผลิต อุปโภคบริโภค ทั้งนี้สัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพียงประมาณ 4% จาก 50% ที่ลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว โดยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากจีนเข้ามาในประเทศไทย( FDI)ปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)อนุมัติ 1.2 หมื่นล้านบาท และได้รับอนุมัติเมื่อปี2538 จำนวนกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท

"นับตั้งแต่ปี 2557 จะเห็นตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนของจีนไหลออกมาลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าหลังจากนี้อีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเห็นเงินทุนไหลออกของจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนมีการวางแผนขยายเส้นทางสายไหมต่างๆ ซึ่งต้องมีการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการซื้อกิจการจะเห็นตัวเลขขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 55% โดยกลุ่มที่ซื้อจะปรับเปลี่ยนจากพลังงานมาสู่เทคโนโลยี อาหาร และนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถของการผลิตมากขึ้น เนื่องจากจีนตั้งเป้าในปี 2568 ต้องการให้สินค้าจีน ใช้คำว่า Made in China"

แนวทางที่ 2 การยกระดับเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็น "เทคนิคัล ฮับ" ภายในปี 2568 ซึ่งจัดตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และนำร่องใน 4 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสินเจิ้น และกวางเจาทั้ง 4 เมืองนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันประเทศจีนเข้าสู่นวัตกรรมที่ล้ำหน้า ซึ่งประเทศไทยจะต้องปรับตัวในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนหรือแวลูเชนของจีนให้ได้ เพราะหากสินค้าบางตัวที่จีนสามารถพัฒนาผลิตได้และเป็นสินค้าประเภทเดียวกับไทยจะทำให้เสียเปรียบเรื่องของต้นทุน จึงจำเป็นต้องปรับตัวและหาทางรับมือ

แนวทางที่ 3 ชนชั้นกลางของจีนเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราสูงสุดในโลกที่ระดับ 109 ล้านคน ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก จะเห็นได้จากตัวเลขการท่องเที่ยวที่เติบโต 16% ต่อปี มียอดใช้จ่ายสูงถึง 5.2 พันบาทต่อหัวถือว่ายอดใช้จ่ายสูงสุดในโลกและในจำนวนยอดใช้จ่ายทั้งหมดจะมีสัดส่วนเรื่องที่พักและช็อปปิ้งสูงถึง 80% จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมถึงโอกาสในการต่อ ยอดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มีสัดส่วนเติบโต 16% หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาระบบการค้าขายผ่านออนไลน์จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น

"แม้ว่าจีนจะมีเศรษฐกิจชะลอตัวลงจริง แต่ก็มีโอกาสในช่วงที่จังหวะนี้ เพียงแต่ประเทศไทยต้องมองโอกาสให้ออก และหาวิธีต่อยอดโอกาสให้เกิดประโยชน์ และปรับตัวให้ได้ควบคู่กับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นด้วย"

ขณะที่ความเสี่ยงของค่าเงิน มองว่า เงินหยวนยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เพราะยังมีเรื่องของสงครามค่าเงิน เพราะตอนนี้ทุกประเทศต้องการให้การค้ามีการเติบโตดีขึ้นจากเดิมที่อัตราการเติบโตของการค้าขายจะต้องสูงกว่าอัตราการเติบโตจีดีพี 2 เท่า แต่ปัจจุบันการค้าขายติดลบ และหลายประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก จึงเป็นสาเหตุที่ทุกประเทศหันมาทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าลงเพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ ส่วนประเทศไทยจะยังเห็นค่าเงินอ่อนค่าลงตามภูมิภาค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559