กระแส ESG ในตลาดทุนสู่ปี 2559

01 มี.ค. 2559 | 23:00 น.
ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและไร้พรมแดนในปัจจุบัน ได้มีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นล้วนมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นต้นทุนพื้นฐานของการพัฒนาในทุกด้าน

องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ในปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาคมโลกพยายามแสวงหาแนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และย้ำให้เห็นว่าการบริโภคและการผลิตที่ไร้จริยธรรมและความรับผิดชอบหรือการสนใจแต่เรื่องความมั่งคั่งนั้น ไม่ได้ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในระยะยาว และหนทางของการสร้างสมดุลใหม่ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ใช่บทบาทของภาครัฐแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป หากแต่ต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อปรับกระบวนทัศน์สู่เป้าหมายสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีไปพร้อมกับความรับผิดชอบเชิงจริยธรรม

ทั้งนี้ความท้าทายใหม่ของตลาดทุนต่อประเด็นดังกล่าว คือ การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเงินและการเป็นผู้นำที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการรับรู้แก่ผู้นำทางธุรกิจในการใส่ใจผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและมุ่งสร้างกำไรโดยไม่ทำลายแหล่งทรัพยากร อีกทั้งมีส่วนร่วมเพิ่มพลังให้สังคมมีความเข้มแข็ง โดยผู้นำทางธุรกิจต้องตระหนักถึงการทำธุรกิจที่มีจริยธรรมในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว UN Sustainable Stock Exchange (SSE) Initiative ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาความยั่งยืนภายใต้หลักการ ESG ของตลาดทุนทั่วโลก จึงริเริ่มทิศทางการพัฒนาตลาดทุนให้สอดคล้องกับ SDG ประกอบด้วย 5 แนวทาง

1. ปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Dialogue) เป็นแนวทางแรกที่จะทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ตลาดทุนอย่างเป็นรูปธรรม

2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability products) เช่น Sustainability indices, Green bonds ซึ่งถือเป็นความท้าทายของตลาดทุนในการพัฒนาหลักทรัพย์ให้มีคุณภาพควบคู่กับผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกหลักทรัพย์

3. กำหนดเกณฑ์ ESG ในการเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ (Listing requirements) เป็นกระบวนการต้นน้ำที่จะทำให้เกิดการพิจารณาและคัดกรองหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

4. ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG reporting guidance) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีการนำประเด็นด้าน ESG ไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

5. ร่วมกับพันธมิตรสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล (Join a global partnership) เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่เหมาะสมกับทิศทางของตลาดทุน อีกทั้งผลักดันให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านวิธีการส่งเสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์

ในปี 2559 นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรและตลาดทุนให้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งพร้อมช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้น (Start Up) และมีศักยภาพ แต่ขาดแคลนเงินทุนในลักษณะของการเข้ามาร่วมลงทุน (Venture capital) เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดทุน อีกทั้งรักษาสมดุลระหว่างการ "สร้างมูลค่าเพิ่ม" และการ "สร้างคุณค่า" โดยบูรณาการหลัก ESG ให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาของประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืน อันจะส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดทุน ก่อให้เกิดนวัตกรรม และการจ้างงานต่อเนื่อง นำมาสู่คุณภาพชีวิตของสังคมและประเทศชาติที่ดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559