ดอนเมืองโทลล์เวย์(ส่วนต่อขยาย)ช่วงรังสิต-ประตูน้ำพระอินทร์

08 พ.ย. 2561 | 11:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ช่วงเกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 การเดินทางสู่ภาคเหนือตลอดจนการลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคพบปัญหาอย่างมากโดยได้มีการกล่าวถึงโครงข่ายคมนาคมเส้นทางนี้พร้อมกับการเร่งศึกษาของกรมทางหลวง(ทล.) ล่าสุดนั้นทล.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมในจุด “บางปะอิน” ที่ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบมอเตอร์เวย์หลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางพระราม 2-บางใหญ่-บางปะอิน เส้นทางบางปะอิน-นครสวรรค์ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา(ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ดังนั้นทล.จึงสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ให้ไปสิ้นสุดในจุดดังกล่าวเพื่อให้การเดินทางไปสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมโยงอย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

เกาะติด3414

“ทางยกระดับอุตราภิมุข” หรือเรียกกันทั่วไปว่า “ดอนเมืองโทลล์เวย์” ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ประตูนํ้าพระอินทร์ แนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณจุดสิ้นสุดทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ในปัจจุบัน บริเวณรังสิต บนถนนพหลโยธินช่วงกม.33+942 ไปถึงจุดสิ้นสุดบริเวณประตูนํ้าพระอินทร์ ในเขตพื้นที่ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 17 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา

ในส่วนรูปแบบการก่อสร้างได้ออกแบบให้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน มีจุดขึ้น-ลงจำนวน 7 จุดทั้งฝั่งขาเข้า และฝั่งขาออก ดังนี้คือ 1.บริเวณกองกษาปณ์ 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 4.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต 5.ทางแยกต่างระดับคลองหลวง(ทล.3214) 6.นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และ 7.ตลาดประตูนํ้าพระอินทร์

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัย และแก้ไขปัญหาจราจรได้แล้วยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งไปสู่ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีความพร้อมก้าวสู่ระดับแถวหน้าของสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

ประการสำคัญยังช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางและต้นทุนการขนส่งสินค้าจากแหล่งผลิตต่างๆที่จะขนส่งมายังกรุงเทพฯ อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งจากอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว รวมถึงการกระจายตัวของแหล่งที่อยู่อาศัยช่วยให้เกิดการขยายตัวของเมืองไปยังจังหวัดปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยามากขึ้นอีกด้วย

คงต้องมีลุ้นกันอีกว่าทล.พร้อมจะเสนอของบประมาณในปี 2562-2563 นี้ทันหรือไม่ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันสภาพการจราจรเส้นทางพหลโยธินมีความหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะยกระดับศักยภาพโลจิสติกส์ของประเทศไทย

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่38 ฉบับที่ 3,414 วันที่  1 - 3  พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859